สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 182 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ชี้ เทศกาลสงกรานต์มีการเดินทางมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากขึ้นได้ ย้ำขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ใช้อุปกรณ์นิรภัย ช่วยป้องกันความสูญเสีย เดินทางกลับบ้านท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ด้วยมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. และเข้มป้องกันโควิด 19 ด้วย Family bubble and seal เลี่ยงสังสรรค์นอกบ้าน พร้อมสั่งการโรงพยาบาลเตรียมทีมปฏิบัติการฉุกเฉินดูแลรักษาและส่งต่อ ออกตรวจตราเข้มการกระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วันนี้ (4 เมษายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”
ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงปัญหาการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แม้ในปี 2564 จะมียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง จากสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีการจำกัดการเดินทาง การเรียนผ่านระบบออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปิดสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม งดจัดกิจกรรมช่วงปีใหม่และสงกรานต์ รวมถึงการตั้งด่านตรวจบูรณาการ ป้องกันควบคุมโรคและบังคับใช้กฎหมาย ทำให้พฤติกรรมดื่มแล้วขับลดลง โดยมีผู้เสียชีวิต 16,957 คน คิดเป็น 25.92 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนแม่บทฉบับที่ 5 ที่จะลดผู้เสียชีวิตให้ต่ำกว่า 25.03 ต่อประชากรแสนคน แต่ปัจจุบันมีการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะมีการใช้รถใช้ถนนทั้งเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวกันจำนวนมาก โดยสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุมาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ คือ ความประมาทในการขับขี่ ขับรถเร็ว ดื่มสุราก่อนขับขี่ ไม่ใช้หมวกนิรภัยและเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้
“ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยยังคงอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยประชาชน อยากให้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยอยู่ร่วมกับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข จึงขอให้ยึดหลัก ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทาง เข้มมาตรการป้องกันโควิด 19 โดยสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจ ATK ก่อนกลับบ้านพบญาติผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วใช้มาตรการ Family bubble and seal รดน้ำขอพร รับประทานอาหาร ฉลองกันในครอบครัว หลีกเลี่ยงการออกไปสังสรรค์นอกบ้าน เพราะอาจนำเชื้อโรคกลับมาติดผู้สูงอายุในครอบครัวได้” ดร.สาธิตกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัด สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ส่วนกลางและจังหวัด เพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลสนับสนุนการทำงานของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นของ อปท. ฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน (EMS) ของโรงพยาบาลและเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทุกระดับ เตรียมหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับ รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน (BLS) และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง (ALS) ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากเป็นการบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามข้อบ่งชี้ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) เข้ารับบริการโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนี่ใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก
นพ.ธงชัยกล่าวต่อว่า ขอให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพิ่มจำนวนบุคลากรให้มากขึ้นจากช่วงปกติ เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับบุคลากรและผู้ป่วยขณะนำส่ง ดำเนินการเจาะเลือดตรวจระดับแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยยกเว้นค่าเจาะเลือดและค่านำส่ง หากส่งตัวอย่างเลือดไปศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกเขตจะได้รับการยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ ประสานตำรวจตรวจตราความเรียบร้อยเป็นระยะเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล และให้รีบแจ้งเหตุเมื่อมีผู้เข้ารับการรักษาจากเหตุทะเลาะวิวาท เพื่อส่งเจ้าหน้าที่และกำลังพลให้เพียงพอต่อการระงับเหตุและดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ ส่วนผู้ก่อเหตุให้ดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง สำหรับการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงอุบัติเหตุและคัดกรองโควิด 19 พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกอาหารสะอาดปลอดภัยในงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง เน้น “กินร้อน ช้อนตนเอง ล้างมือ”
“ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ขณะที่คนส่วนใหญ่ได้หยุดอยู่กับครอบครัว บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละเกือบ 3,000 ราย ซึ่งเป็นปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติอย่างมาก คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นตามมา เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุ ด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้กับเจ้าหน้าที่ และท่องเที่ยวได้อย่างมีความสุข” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธเรศกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยขอความร่วมมือพี่น้อง อสม.ร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ดังนี้ 1.ร่วมตั้งด่านชุมชนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อผู้ขับขี่มายังด่านชุมชน อสม.และเจ้าหน้าที่ด่านชุมชนสังเกตลักษณะทางกายภาพ (เดินโซเซ ตาเยิ้มแดง มีกลิ่นเหล้า) มีอาการมึนเมาสุรา ขัดขืนไม่ยอมทดสอบ แจ้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากไม่มีอาการมึนเมาให้กลับบ้านได้ และ 2.ทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับที่อยู่ในชุมชน โดยใช้การสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น คือ 1) “แตะจมูกตัวเอง” ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตา หากแตะจมูกที่ปลายจมูกไม่ได้ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะเมาสุรา 2) “เดินแล้วหัน” ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้สันชิดปลายเท้าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายอีก 9 ก้าว หากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ ต้องใช้แขนช่วยพยุงหรือล้มเซ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา และ 3) “ยืนขาเดียว” ให้บุคคลนั้นยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 เซนติเมตร เริ่มนับ 1000, 1001, 1002... จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซ วางเท้าลง เขย่ง หรือใช้แขนทรงตัวแสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในสภาวะมึนเมาสุรา ทั้งนี้ หากพบมีอาการมึนเมา ให้นั่งพัก ประเมินซ้ำทุก 30 นาที หากไม่มีอาการมึนเมาสุรา ให้กลับบ้านได้ หากพบมีอาการมึนเมาสุรา แจ้งญาติหรือเพื่อนมารับกลับบ้าน
นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวว่าจะลดลง ยังพบมีการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย กรมควบคุมโรคซึ่งรับผิดชอบ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จึงได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย การขายสุราในสถานที่ห้ามขาย และสำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องสถานที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ, การขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งหากพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขายทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมาย แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0-2590-3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
“เราคาดหวังว่าสงกรานต์ปีนี้ อุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับจะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา ขอฝากไปยังประชาชนที่จะเดินทางในช่วงเทศกาล ปฏิบัติตามมาตรการ 3 ด่าน 3 ม. คือ ด่านตัวเอง ด่านครอบครัว ด่านชุมชน และ ไม่เมา สวมหมวก ใส่แมสก์ โดยผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้โดยสารช่วยตักเตือนผู้ขับขี่ และก่อนออกเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ล้อหมุนทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ให้บริการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เมาสุรา นอกจากนี้ ยังคงให้ความร่วมมือในการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด กรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 สำหรับวันควบคุมเข้มข้นวันที่ 11–17 เมษายน 2565 โดยยกเว้นค่าตรวจวิเคราะห์ โดยสามารถตรวจและรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง โดยขอให้เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลควรเจาะเลือดเก็บตัวอย่างภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอุบัติเหตุ และส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจำนวน 784 ราย อายุระหว่าง 10–84 ปี พบปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนดร้อยละ 55 ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 20–29 ปี พาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง
******************************* 4 เมษายน 2565
*******************************************