กระทรวงสาธารณสุข แจงผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงสุด 312 ราย จำนวนหนึ่งมาจากผู้เสียชีวิตนอกโรงพยาบาลที่รอผลชันสูตร แนะทุกคนใช้มาตรการป้องกันตนเองตลอดเวลาหรือแบบครอบจักรวาล ให้คิดว่าตนเองและคนรอบตัวติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ พร้อมขอให้สถานประกอบการทุกแห่งใช้มาตรการ Bubble and Seal ป้องกันแพร่เชื้อ และสุ่มตรวจโควิดด้วย ATK ตามเกณฑ์จำนวนพนักงานที่กำหนด

          วันนี้ (18 สิงหาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้หายป่วยจากโควิด 19 จำนวน 22,682 ราย มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 20,515 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้ที่สูงถึง 312 รายนั้น ส่วนหนึ่งประมาณ 100 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่รายงานย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคม เนื่องจากไม่ได้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ อยู่ในกระบวนการชันสูตร ทำให้ไม่ได้รายงานพบการติดเชื้อและเสียชีวิตเข้าระบบ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง ยังไม่ได้รับวัคซีน และได้รับวัคซีนไม่ครบ ซึ่งวัคซีนทั้ง mRNA ไวรัลเวคเตอร์ หรือเชื้อตาย แม้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยลดป่วยหนักและลดการเสียชีวิตได้ จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้

          นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญที่ต้องย้ำ คือ การป้องกันติดเชื้อโควิดตลอดเวลาหรือแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ ประชาชนทั่วไป ขอให้คิดเสมอว่าคนรอบตัวและตัวเราอาจมีเชื้อแฝงอยู่ จึงต้องป้องกันตนเองอย่างเข้มงวดกับทุกคน ทั้งการใส่หน้ากาก อยู่ห่าง 1-2 เมตร ล้างมือ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ทุกสายพันธุ์ 

          สำหรับการควบคุมโรคในสถานประกอบการกำลังสรุปแนวทางเผยแพร่ ที่จะใช้การสุ่มตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ตัวอย่างแนวปฏิบัติ เช่น โรงงานที่มีพนักงานน้อยกว่า 100 คน ให้สุ่มตรวจ 50 คน, พนักงาน 100-150 คน สุ่มตรวจ 75 คน และหากมีพนักงานมากกว่า 1,000 คน ให้สุ่มตรวจ 150 คนในทุก 1,000 คน ร่วมกับการทำมาตรการ Bubble and Seal ตั้งแต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง โดยเข้มการใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ คนที่ร่างกายแข็งแรงใช้วิธีเฝ้าระวังอาการ ส่วนคนที่เริ่มมีอาการต้องแยกไปดูแลรักษา โดยจัดสถานที่แยกกักในสถานประกอบการ คล้ายโรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้ หากในสถานประกอบการมีกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจหาเชื้อทุกราย ทั้งนี้ โรงงานต่างๆ สามารถปรึกษาเรื่องการสุ่มตรวจ และการทำ Bubble and Seal ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่อาจไม่มีความพร้อมด้านสถานที่ เพื่อให้ประกอบกิจการต่อไปได้ พนักงานทำงานด้วยความปลอดภัย เพราะหากปิดกิจการอาจมีการเดินทางกลับบ้านหรือไปหางานทำที่อื่น และแพร่เชื้อสู่คนอื่นต่อไป

************************** 18 สิงหาคม 2564



   
   


View 1020    18/08/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ