กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.สุรินทร์ พัฒนากระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ถึงร้อยละ 88 สามารถจัดทำแนวทางมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานรวดเร็วทันเวลา เพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย และได้พัฒนาขยายไปยังโรงพยาบาลชุมชนภายในจังหวัด ในการประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2551 ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ นายแพทย์กิตติศักดิ์ เชื้อสกุลวนิช แพทย์กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลสุรินทร์ ได้รับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยมของปี 2550 จากการศึกษาเรื่อง “การเสียชีวิตจากภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต ในโรงพยาบาลสุรินทร์” เพื่อศึกษาสาเหตุการเสียชีวิตและประเมินเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลังในช่วงเดือนตุลาคม 2547-กันยายน 2548 นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่ง ปัจจุบันพบมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางด้านระบาดวิทยาอย่างชัดเจน แต่จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคติดเชื้อเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นลำดับที่ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลสุรินทร์ พบปัญหาภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นลำดับ 1 จึงมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการให้บริการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยในเชิงระบบแบบบูรณาการ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะนี้อย่างเป็นรูปธรรม จากการศึกษาพบภาวะช็อคจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยสูงถึงร้อยละ 88 และจากการวิเคราะห์ยังพบว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเสียชีวิตผู้ป่วยในภาวะนี้ มาจากการเฝ้าระวังทางด้านระบบไหลเวียนโลหิต การให้สารน้ำในการรักษาภาวะช็อค และการให้ยาปฏิชีวนะที่ยังไม่เหมาะสมเพียงพอ ทั้งความรวดเร็วและความถูกต้อง การขาดอัตรากำลังแพทย์และพยาบาล และจำนวนเตียงของห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ ในการพัฒนากระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยเชิงระบบ รพ.สุรินทร์ ได้จัดทำมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน ให้ผู้ป่วยได้รับการเฝ้าระวังทางด้านระบบไหลเวียนโลหิต การให้สารน้ำภาวะช็อค การให้ยาปฏิชีวนะ และการส่งผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน รวดเร็วทันเวลา พัฒนาศักยภาพ หอผู้ป่วย จัดแบ่งโซนในการดูแลรักษาผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถเข้ารักษาในไอซียูได้ โดยได้รับการดูแลรักษาและเฝ้าระวังที่ใกล้ชิด ได้มาตรฐานและรวดเร็ว จัดระบบทางด่วน (Fast Tract) ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ได้พัฒนาขยายแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะนี้ไปโรงพยาบาลชุมชนภายในจังหวัด เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมในช่วงก่อนและระหว่างส่งตัวผู้ป่วยมารักษาต่อที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ****************************** 28 พฤษภาคม 2551


   
   


View 11    28/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ