ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ขอความร่วมมือไทย ช่วยผลักดันมาตรการควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้ประชากรโลกดื่มเหล้า 2,000 ล้านคน กว่า 76 ล้านคนมีปัญหาทางจิต จากฤทธิ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยกไทยเป็นตัวอย่างของนานาประเทศ ในการช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งทีมแพทย์ พร้อมเงิน ยาและเวชภัณฑ์ไปช่วยกู้วิกฤติภัยจากนาร์กีสในพม่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการควบคุมป้องกันโรค และคณะ เข้าพบแพทย์หญิงมาการ์เร็ต ชาน (Dr.Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เพื่อหารือความร่วมมือการพัฒนาการสาธารณสุข ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสมาพันธรัฐสวิส ระหว่างการประชุมสมัชอนามัยโลก สมัยที่ 61 ว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมประเทศไทย ที่มีระบบการสาธารณสุขมูลฐานที่ดี มีตัวแทนภาคประชาชนอาสาเข้ามาร่วมแก้ไขและพัฒนาการสาธารณสุขร่วมกับภาครัฐ ทำให้การสาธารณสุขเข้มแข็ง นับเป็นประเทศตัวอย่างของโลก นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทย ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือประเทศพม่าที่ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีส ทั้งด้านการแพทย์ เงิน ยาและเวชภัณฑ์ เป็นตัวอย่างของการช่วยเหลือเพื่อนบ้านให้กับนานาประเทศที่อาจประสบเหตุการณ์เหล่านี้ในอนาคต พร้อมทั้งขอความร่วมมือไทยร่วมผลักดันวาระโลก 2 เรื่อง ได้แก่ มาตรการควบคุมการบริโภคแอลกอฮอล์ระดับโลก เนื่องจากขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่ โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามีประชาชนทั่วโลกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน และเป็นผู้ที่มีปัญหาทางจิตเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ จำนวน 76 ล้านกว่าคน นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนร้อยละ 26 เป็นสาเหตุโรคตับแข็ง ร้อยละ 11 ในฐานะที่องค์การอนามัยโลกเป็นองค์การทางสุขภาพ จะต้องให้ความรู้ประชาชนในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เหมาะสม ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ และเรื่องที่ 2 คือ การขอให้ไทยเป็นแกนนำจัดตั้งคณะทำงานภาครัฐระดับนานาชาติด้านการสาธารณสุข ซึ่งไทยได้ตั้งนายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นผู้ดำเนินการประสานงานฝ่ายไทย ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดจำนวนผู้ดื่มโดยเฉพาะเยาวชน ผลการสำรวจในปี 2547 พบคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่น ดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 16.2 ล้านคน เฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี จากการศึกษาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ตลอดปี 2548 มีผู้บาดเจ็บเพราะเมาสุราเข้ารักษาตัวทั้งหมด 45,911 ราย ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 8,233 ราย หรือประมาณ ร้อยละ 20 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมด เสียชีวิตจากสาเหตุเมาสุรา 1,921 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้บาดเจ็บสาหัส ซึ่งไทยพร้อมให้การผลักดันให้มีมาตรการควบคุมแอลกอฮอล์ระดับโลก เช่นเดียวกับบุหรี่ ************************ 21 พฤษภาคม 2551


   
   


View 10    21/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ