กระทรวงสาธารณสุขไทย ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศเอธิโอเปีย เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุข 5 สาขา ประกอบด้วย การศึกษาวิจัย การคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาห้องตรวจชันสูตรโรค การพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการแพทย์และสาธารณสุข และการควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคมาลาเรียซึ่งเป็นปัญหาหลัก เป็นสาเหตุการตายของประชาชนเอธิโอเปียร้อยละ 27 และร่วมมือกับประเทศภูฏานเพื่อพัฒนาบุคลากรสาขาแพทย์ พยาบาล โดยจะมีการประชุมและจัดทำรายละเอียดในความร่วมมือในเร็วๆ นี้
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานร่วมกับดร.ทีรอส อะดานอม จีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขประเทศเอธิโอเปีย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ในระหว่างประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 61 ที่สมาพันธรัฐสวิส ว่า ได้รับมอบหมายจากนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้แทนร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ที่จะส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการการพัฒนาสุขภาพอนามัยประเทศหนึ่งในทวีปอัฟริกา โดยความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 สาขา ได้แก่ การศึกษาวิจัย การแลกเปลี่ยนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการสาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาห้องตรวจปฏิบัติการชันสูตรโรค และการควบคุมป้องกันโรค ซึ่งจะได้ประชุมเพื่อจัดทำรายละเอียดความร่วมมือในแต่ละสาขาต่อไป
นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้พบกับ ฯพณฯ ลิมโป ชางเล ดุกปะ (H.E.Lyonpo Zangley Dukpa) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศภูฏาน ซึ่งได้หารือขอความร่วมมือไทยช่วยพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะในสาขาแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ซึ่งยังมีความขาดแคลนและต้องพัฒนาศักยภาพในการรักษาพยาบาลประชาชนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมและอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน สภาพปัญหาสาธารณสุขมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งไทยพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีในการแสดงถึงศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยประเทศเอธิโอเปียแก้ไขปัญหาสาธารณสุข ซึ่งเอธิโอเปียมีประชากรประมาณ 71 ล้านคน ได้ประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารบริโภคในประเทศ และเกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาหลักอันดับ 1 คือ โรคมาลาเรีย ซึ่งร้อยละ 75 เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามาลาเรียระบาด มีประชาชนประมาณ 51 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โรคมาลาเรียเป็นสาเหตุการตายร้อยละ 27 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค โรคไข้สมองอักเสบ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และปัญหาการตายของแม่และเด็กยังอยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งไทยมีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะการลดจำนวนผู้ติดเชื้อโรคเอดส์รายใหม่ ทั้งจากเพศสัมพันธ์และจากแม่สู่ลูก การควบคุมโรคมาลาเรีย ซึ่งขณะนี้พบเฉพาะตามแนวชายแดนประเทศ ซึ่งไทยพร้อมจะถ่ายทอดประสบการณ์ให้กระทรวงสาธารณสุขเอธิโอเปียอย่างเต็มที่
*************************** 20 พฤษภาคม 2551
View 11
20/05/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ