กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 30 คน พร้อมเครื่องมือผ่าตัด ยาและเวชภัณฑ์การแพทย์ ขึ้นเครื่องซี-130 ของกองทัพอากาศ ไปประเทศพม่า ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กีสเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยสามารถตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป ได้ประมาณวันละ 800-1,000 ราย ผ่าตัดใหญ่ได้วันละประมาณ 20-30 ราย
เช้าวันนี้ (17 พฤษภาคม 2551) ที่กองบิน บน.6 ดอนเมือง กทม. นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เดินทางไปอำนวยการจัดส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ชุดแรก พร้อมอุปกรณ์ผ่าตัด ยาและเวชภัณฑ์การแพทย์ ไปให้การช่วยเหลือประเทศพม่า โดยจะอยู่ในพม่าเป็นเวลา 2 สัปดาห์
นายไชยา กล่าวว่า ประเทศพม่าได้อนุญาตให้ประเทศไทย ส่งแพทย์ พยาบาล เข้าไปช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ประชาชนชาวพม่า โดยหน่วยแพทย์พระราชทานฯ ที่เดินทางไปครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 30 คน ประกอบด้วย แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและศัลกรรมทั่วไป 7 คน แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 2 คน วิสัญญีแพทย์ 1 คน กุมารแพทย์ 1 คน จิตแพทย์ 2 คน นักจิตวิทยา 1 คน สัตวแพทย์ 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนำโดยแมลง 1 คน นักระบาดวิทยา 4 คน พยาบาลห้องผ่าตัดและพยาบาลศัลยกรรมหัวใจ 12 คน โดยมาจากโรงพยาบาลรามาธิบดี 6 คน สภากาชาดไทย 11 คน กรมสุขภาพจิต 2 คน กรมควบคุมโรค 4 คน โรงพยาบาลราชวิถี 2 คน โรงพยาบาลราชบุรี 4 คน และศูนย์นเรนทร 1 คน มีนายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร รองผู้อำนวยการสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้นำทีม
โดยอุปกรณ์และเวชภัณฑ์การแพทย์ที่นำไปด้วยครั้งนี้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกทีมแพทย์เตรียมไปเองตามความชำนาญของแพทย์ ประกอบด้วย อุปกรณ์ตรวจรักษาผู้ป่วย เครื่องดมยาสลบ เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อเครื่องมือ ผ้าก๊อซ สำลี เครื่องมือผ่าตัด ชุดดามกระดูก ทำแผล เย็บแผล ทำคลอด เครื่องมือตรวจเลือด ชุดตรวจเชื้อมาลาเรีย/ไทฟอยด์/เบาหวานภาคสนาม วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ไทฟอยด์ ยารักษาโรคมาลาเรียและยารักษาโรคเบื้องต้น เช่น ลดไข้ แก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ลดน้ำมูก ลดกรดในกระเพาะอาหาร เป็นต้น เพียงพอสำหรับผู้ป่วยจำนวน 4,000 คน โดยสภากาชาดไทยได้เตรียมเครื่องยังชีพให้คณะแพทย์เพียงพอใช้ตลอด 2 สัปดาห์ ไม่ต้องรบกวนทรัพยากรของพื้นที่
ส่วนที่ 2 เป็นยาและเวชภัณฑ์ที่ได้รับการบริจาคจากภาคเอกชน ประกอบด้วย ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด และสารน้ำทดแทนเลือด วัคซีนป้องกันโรค รวมมูลค่า 5.5 ล้านบาท จากบริษัทซาโนฟี่ อเวนติส และซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ยาปฏิชีวนะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ยาแก้ปวด มูลค่า 3.5 แสนบาท จากบริษัท ส.เจริญเภสัช เทรดดิ้ง จำกัด ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ยาแก้ปวด ยารักษาโรคผิวหนัง มูลค่า 1.7 ล้านบาท จากบริษัทเชอริ่ง-พลาว จำกัด
ด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเดินทางไปครั้งนี้ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะแพทย์ไทยและคณะแพทย์ของประเทศพม่า โดยทีมแพทย์ที่ไปสามารถให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยได้ทั้งในสถานพยาบาล และเคลื่อนที่ไปให้บริการในพื้นที่ประสบภัยต่างๆ แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ทีม ตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ประมาณวันละ 800-1,000 ราย ผ่าตัดใหญ่ได้วันละประมาณ 20-30 ราย นอกจากทีมแพทย์ชุดแรกแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังได้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมควบคุมป้องกันโรคที่มีประสบการณ์ พร้อมเวชภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ อีกกว่า 100 คน สามารถเดินทางทันทีเมื่อประเทศพม่าร้องขอเพิ่มเติม
************************************** 17 พฤษภาคม 2551
View 14
17/05/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ