รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงผู้ประกอบการ เตรียมบังคับใช้กฎหมาย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสื่อทุกแขนงตลอด 24 ชั่วโมง คาดมีผลใช้ 5 ธันวาคม 2549 และในวันอังคารนี้จะผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าครม. กำหนดเขตปลอดสุรา ห้ามขายอายุต่ำกว่า 25 ปีหรืออยู่ในสภาพเมาแอ๋ ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา ปรับย้อนหลังวันละไม่เกิน 10,000 บาท ชี้ผลกระทบเหล้าล่าสุดคนไทยป่วยจากตับแข็งเพิ่มจาก 3 คนเป็นเกือบ 4 คนต่อยอดจำหน่ายเหล้าเบียร์ทุก 1 ล้านลิตร ผลการศึกษาล่าสุดคนไทย ดวดเหล้า-เบียร์หนักขึ้น ยอดจำหน่ายเพิ่มจาก 2,307 ล้านลิตรในปี 2546 เป็น 2,446 ล้านลิตรในปี 2548
เช้าวันนี้ (16 ตุลาคม 2549) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (คบอช.) เพื่อพิจารณาจัดทำมาตรการจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในวันนี้ได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริษัทผลิตสื่อ ผลิตของที่ระลึกในการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หน่วยราชการและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้แทนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนหญิง และตัวแทนเยาวชน เป็นต้น ให้เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับในกฎ กติกา เพราะผลกระทบจากแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อสังคมต้องช่วยกันแก้ไข
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ เป็นเดินหน้าแก้ปัญหาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 โดยกำหนดให้ห้ามการโฆษณาทุกรูปแบบ ห้ามเผยแพร่สปอตโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดหรือสปอตโฆษณาของบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งการแสดงเครื่องหมายการค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อบริษัทผู้ผลิต ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว หรือเป็นสปอนเซอร์ และห้ามแพร่ภาพโฆษณาในรายการถ่ายทอดแข่งขันกีฬาภายในประเทศ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ ในช่วงเวลา 05.00 น. - 22.00 น. แต่ข้อมูลจากการเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548 - 30 เมษายน 2549 พบว่า ยังมีการละเมิดกติกามา โดยตลอด โดยมีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางแฝงทางโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และ ไอทีวี ในช่วงเวลา 16.00 น. - 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาห้ามโฆษณา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 105 ครั้งในเดือนสิงหาคม 2548 เป็น 237 ครั้งในเดือนเมษายน 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 126 ภายในเวลาเพียง 9 เดือน โฆษณามากที่สุดในรายการข่าว ส่วนการโฆษณาแฝงมักอยู่ในรูปของกราฟิก ฉากหลังสัญลักษณ์ต่างๆ ส่วนการโฆษณาตรงจะอยู่การถ่ายทอดสดกีฬา แทรกในสารคดี และสกู๊ปข่าวภาคค่ำ
ขณะเดียวกัน การดื่มสุราทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคพิษสุราเรื้อรังและโรคตับแข็ง พบสัดส่วนผู้ป่วยเพิ่มจาก 3.2 คนต่อยอดจำหน่ายสุราเบียร์ 1 ล้านลิตร ในปี 2546 เพิ่มเป็นเกือบ 4 คน ในปี 2548 ส่วนยอดอุบัติเหตุจากเมาสุราเพิ่มจากร้อยละ 7.6 เป็นเกือบร้อยละ 9 ในรอบ 4 เดือนนี้ของปี 2549 ล่าสุดในปี 2547 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเหล้าร้อยละ 33 หรือ 16.2 ล้านคน กลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ดื่มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.6 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 23.5 ในปี 2547 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานภาวะสังคมไทยล่าสุดในปี 2549 ที่น่าห่วงมากพบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดจำหน่ายเหล้า-เบียร์เพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี จาก 2,307 ล้านลิตรในปี 2546 เป็น 2,446 ล้านลิตรในปี 2548 เป็นเรื่องที่สังคมต้องเร่งช่วยกันแก้ไข
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวันนี้ เพื่อพิจารณาในรายละเอียดบางประเด็นแล้ว ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกคำสั่งกำหนดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพต้องควบคุมฉลาก ภายในวันพรุ่งนี้ (17 ตุลาคม 2549) และให้ออกคำสั่งห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 5 ธันวาคม 2549
ทั้งนี้ในการจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะห้ามมิให้มีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในสิ่งพิมพ์ เทป หรือวัสดุโทรทัศน์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้เป็นการโฆษณาได้ ตลอด 24 ชั่วโมง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการห้ามโฆษณาอย่างสิ้นเชิงนี้ มีผลการศึกษายืนยันตรงกันว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันวัยรุ่น เยาวชน ริเริ่มดื่มเครื่องดื่มมึนเมาประเภทนี้ โดยลดการดื่มของเยาวชนโดยเฉลี่ยร้อยละ 24 ต่อเดือน และลดการดื่มแบบหัวราน้ำหรือดื่มเหล้าอย่างน้อย 5 แก้วใน 1 วัน ลงถึงร้อยละ 42 ต่อเดือน
นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า ขั้นต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการต่อไปอีกก็คือในวันพรุ่งนี้ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย มีทั้งหมด 63 มาตรา 8 หมวด ที่ผ่านการประชาพิจารณ์ในกลุ่มผู้ประกอบการ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ประชาชนทั่วไป และกลุ่มตัวแทนศาสนา ทั้ง 4 ภาครวมกันเกือบ 2,000 คน มาแล้ว 7 ครั้ง ตั้งแต่ 8 27 มิถุนายน 2549 มติส่วนใหญ่เห็นด้วย และได้แก้ไขปรับปรุงสาระรายละเอียดตามคำแนะนำอีก 2 ครั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว
สาระสำคัญหลัก ๆ จะกำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องพิมพ์ฉลากข้อความคำเตือน การกำหนดเขตปลอดเหล้า 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ วัดหรือศาสนสถาน สถานที่ราชการ สถานศึกษา ที่สาธารณะหรือทางสาธารณะ เป็นต้น กำหนดวันเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ (จากเดิมห้ามขายอายุต่ำกว่า 18 ปีตั้งแต่ในปี 2547) หรือห้ามขายให้คนที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ห้ามขายเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ เร่ขาย ขายแบบลดแลกแจกแถม รวมทั้งการห้ามโฆษณาในสื่อทุกประเภท ยกเว้นถ่ายทอดสดรายการสดจากต่างประเทศ ห้ามโฆษณาสินค้าอื่นที่ใช้เครื่องหมายเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา เช่น หากกระทำผิดการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะกระทำถูกต้องตามกฎหมาย
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้มีประเทศที่มีการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงหลายประเทศ เช่น แอลจีเรีย อียิปต์ จอร์แดน อิหร่าน ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ จากการศึกษาพบว่า ในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่มีการห้ามถึงร้อยละ 16 และที่สำคัญคือ อัตราการตายจากอุบัติเหตุจราจรในกลุ่มประเทศที่มีการห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำกว่าประเทศที่ไม่มีการห้ามถึงร้อยละ 23
ทั้งนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากกว่า 60 โรค เช่น โรคมะเร็งตับ โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับสมอง เป็นสาเหตุการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย การตาย และพิการ มากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ในปี 2548 มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรมากถึง 941,880 คน โดยมีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 40 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50-60 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่าแสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้สุขภาพจิตเสื่อม ผู้ดื่มสุราเรื้อรังจะมีความเครียดร้อยละ 51 มีอาการซึมเศร้าในเกณฑ์รุนแรง ต้องได้รับการรักษาร้อยละ 49 ในจำนวนนี้ร้อยละ 12 คิดฆ่าตัวตาย ร้อยละ 11 คิดฆ่าผู้อื่น และที่สำคัญยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของคนในครอบครัว พบว่า วัยรุ่นที่มีบิดาเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 11.5 เท่า นายแพทย์ธวัชกล่าว
ตุลาคม1/1-3 ******************************** 16 ตุลาคม 2549
View 18
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ