ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 206 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ใช้แนวคิด “6 ภาคส่วนสานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ” ร่วมรณรงค์ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ พร้อมเปิดตัว เว็บแอปพลิเคชัน “ปกป้อง” รับเรื่องและช่วยเหลือคุ้มครองการถูกละเมิดสิทธิ ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ ทาง crs.ddc.moph.go.th หรือเพียงค้นหาด้วยคำว่า “สวัสดีปกป้อง”
วันนี้ (1 มีนาคม 2564) ที่กระทรวงการต่างประเทศ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดงาน Global partnership for Zero Discrimination : harnessing the power of governments, civil society and the United Nations to tackle stigma and discrimination in Asia and the Pacific จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก (UNAIDS) เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในโอกาสที่ได้ทรงดำรงตำแหน่ง UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV Prevention for Asia and the Pacific และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะ พร้อมเชิญชวนภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์วันยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ ตามแนวคิดการณรงค์ “การยุติความไม่เท่าเทียม : End inequality”
นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทย เป็น 1 ใน 18 ประเทศที่เข้าร่วม Global Partnership for Action เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีทุกรูปแบบ โดยในวันยุติการตีตราและเลือกปฏิบัติ 1 มีนาคมปีนี้ ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ใช้แนวคิดการสร้างกระแสสังคมยุติการเลือกปฏิบัติ “6 ภาคส่วนสานพลัง ยุติการเลือกปฏิบัติ” ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของสังคม 6 ภาคส่วน คือ ครัวเรือน, สถานที่ทำงาน/สถานประกอบการ, สถานบริการสุขภาพ, สถานศึกษา, บริการด้านยุติธรรม และภาคบริการด้านมนุษยธรรมและภาวะฉุกเฉิน กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนเปิดใจ ยอมรับ และให้โอกาสผู้มีเชื้อเอชไอวีได้มีสิทธิ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ มุ่งสู่เป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ได้เปิดเว็บแอปพลิเคชัน ปกป้อง เป็นผู้ช่วยออนไลน์รับเรื่องร้องเรียน ทาง crs.ddc.moph.go.th ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การถูกบังคับตรวจเอชไอวี ถูกเปิดเผยสถานะการติดเชื้อเอชไอวี ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติเนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี หรือเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ได้แก่ กลุ่มหลากหลายทางเพศ, พนักงานบริการ, ผู้ใช้สารเสพติด, ประชากรข้ามชาติ, ผู้ถูกคุมขัง, กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่า และมีทีมสหวิชาชีพ รับเรื่องไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือและจัดการปัญหาต่อไป ทั้งนี้ จากการสำรวจสุขภาพคนไทยล่าสุดในปี 2558 พบว่า ร้อยละ 59 มีทัศนคติเชิงลบในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผลสำรวจในสถานบริการสุขภาพ ล่าสุดในปี 2560 ยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ โดยพบว่า ผู้ติดเชื้อร้อยละ 11 มีประสบการณ์ถูกตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ ผู้ติดเชื้อร้อยละ 35 เคยตัดสินใจไม่ไปรับบริการเนื่องจากการตีตราตัวเอง
ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมศรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีเอกอัครราชทูต ทูตานุทูตและผู้แทนสถานทูต จาก 34 แห่งเข้าร่วมงาน และถ่ายทอดสดผ่าน Facebook ของกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค, กระทรวงการต่างประเทศ และ UNAIDS ตามแนวทาง New normal ลดการสัมผัสในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ภายในงานมีการอภิปรายภายใต้หัวข้อ “Global Partnership to Eliminate All Forms of HIV-Related Stigma and Discrimination” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค Mr. Eamon Murphy ผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก Mr. Harry Prabowo จาก APN Plus Dr. Anita Suleiman Head of HIV/STI Department ประเทศมาเลเซีย (online) และคุณสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
******************************** 1 มีนาคม 2564
***********************************