ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 219 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทยควบคุมโรคโควิด 19 ได้ดี แม้ยังไม่ใช้วัคซีน ยืนยันการนำมาใช้ยึดเรื่องความปลอดภัย และมีประสิทธิผล จากการฉีดทั่วโลกกว่า 100 ล้านโดส ยังมีความปลอดภัยสูงทุกชนิด และเริ่มเห็นแนวโน้มการติดเชื้อลดลง ย้ำฉีดแล้วยังต้องป้องกันตนเอง เหตุยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงข่าววัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้วมากกว่า 100 ล้านโดส และเริ่มเห็นว่าอัตราการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะต้องติดตามว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ เนื่องจากประเทศที่มีการใช้วัคซีนมีแนวโน้มการระบาดของโรคลดลงจริง ขณะที่ประเทศไทยแม้ยังไม่มีการฉีดวัคซีนก็สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เช่นกัน จากที่เคยพบผู้ติดเชื้อวันละ 700-800 ราย ลดลงเหลือประมาณ 100 กว่าราย ซึ่งมาจากความร่วมมือของภาครัฐและประชาชนที่ช่วยกันควบคุมโรค
นายแพทย์วิวัฒน์กล่าวว่า สำหรับเรื่องความปลอดภัยวัคซีน แม้วัคซีนโควิด 19 ผลิตออกมาได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี แต่การนำมาใช้ยืนยันว่าต้องมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล และมีการติดตามผลในระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น จากการฉีดวัคซีนทั่วโลกในขณะนี้พบว่าวัคซีนทุกตัวมีความปลอดภัยที่สูงมาก ยังไม่มีประเทศไหนที่ต้องหยุดฉีดเพราะอันตราย อาจมีบางคนที่เกิดอาการแพ้ได้ หลังการฉีดจึงต้องสังเกตอาการในสถานพยาบาล 30 นาที ส่วนวัคซีนโควิด 19 ที่จะใช้ในประเทศไทยยึดเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ หากไม่ปลอดภัยจะไม่นำมาฉีดให้คนไทยแน่นอน ขอให้มีความมั่นใจการใช้วัคซีนต้องมีประโยชน์และได้ผลส่วนวัคซีนชนิดไหนดีที่สุดไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากข้อมูลของวัคซีนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเรื่องสายพันธุ์ ดังนั้น จึงต้องเลือกวัคซีนที่มีความเหมาะสมกับประเทศของตน
“หลายคนถามว่าวัคซีนเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ ขอชี้แจงว่า หลายประเทศที่แนวโน้มการติดเชื้อลดลงจากผลการฉีดวัคซีน ส่วนประเทศไทยการติดเชื้อลดลงมาจากโซเชียลวัคซีน ซึ่งได้ผลดีกว่าและเสียเงินน้อย คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง และแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว เชื้อยังมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายและติดเชื้อได้ โดยเชื้อจะถูกทำลายจนเหลือน้อย ทำให้ไม่เกิดโรค หรือเกิดโรคแต่อาการไม่รุนแรง และมีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยลง ดังนั้น เมื่อฉีดวัคซีนและมีใบรับรองการฉีดแล้ว ยังคงต้องประพฤติตัวเสมือนว่าตัวเองติดเชื้อและแพร่เชื้อได้จึงต้องป้องกันตนเองต่อไป จนกว่าจะมีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถกลับเข้าสู่ชีวิตตามปกติได้” นายแพทย์วิวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการฉีดวัคซีน คือ 1.ป้องกันตนเอง ไม่ให้เจ็บป่วย ลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ/ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง 2.ป้องกันการแพร่โรค ดังนั้น หลายประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่จึงจำเป็นต้องเร่งนำวัคซีนเข้ามาช่วย และ3.ฟื้นระบบเศรษฐกิจและสังคม เมื่อควบคุมโรคได้แล้ว
*************************** 9 กุมภาพันธ์ 2564