สาธารณสุข เตือนประชาชนอย่าตระหนกโรคมือเท้าปากระบาดที่จีน กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานควบคุมโรค 12 เขตทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แนะประชาชนและผู้ปกครองดูแลเด็กให้ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันโรค เผยสถานการณ์รอบ 4 เดือน พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 6,179 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นสายพันธุ์ชนิดไม่รุนแรง กรณีที่มีข่าวกระทรวงสาธารณสุขจีนแถลง ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของเอนเทอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 (EV 71 : Enterovirus 71) ซึ่งเริ่มระบาดเมื่อเดือนมีนาคม ที่เมืองฝูหยาง มณฑลอานฮุย ทางตะวันออกของประเทศจีน หลังจากที่มีเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 26 ราย ขณะนี้มีเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มมากกว่า 5,151 ราย ไวรัสดังกล่าวระบาดในหมู่เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และเป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปาก ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง เจ็บปากและมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นที่ผิวหนังบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าและในปาก องค์การอนามัยโลกได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสนี้ ซึ่งในกรณีรุนแรงจะทำลายสมอง หัวใจ และปอด ทำให้เสียชีวิตได้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคมือเท้าปากเกิดขึ้นได้ทั่วโลก จัดเป็นโรคประจำถิ่น มักระบาดเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูฝน ขอให้ประชาชนหรือผู้ปกครองเด็กอย่าตื่นตระหนก กระทรวงสาธารณสุขได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ให้จับตาเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน การป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดคือ ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ เนื่องจากการล้างมือจะขจัดเชื้อโรคออกไปได้ร้อยละ 80 ระยะนี้หากพบเด็กมีไข้สูง มีตุ่มน้ำใสๆ ที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือในปาก ขอให้สงสัยอาจจะเป็นโรคมือเท้าปาก ห้ามไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เตือนผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในที่สาธารณะที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ เช่น สนามเด็กเล่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ เพราะจะเสี่ยงติดโรคได้ง่าย ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีนี้ประเทศไทยพบโรคมือเท้าปากประปราย การป่วยจะเกิดขึ้นเป็นจุดๆ ไม่มีการระบาดในวงกว้าง สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนเมษายน 2551 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยทั้งหมด 6,179 ราย เสียชีวิต 1ราย ร้อยละ 91 เกิดในเด็กอายุ 0-4 ปี จำนวน 5,624 ราย พบมากในภาคกลาง 2,894 ราย รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ 2,059 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,034 ราย และภาคใต้ 192 ราย สายพันธุ์ที่พบเป็นชนิดไม่รุนแรง โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อในกลุ่มเอ็นเทอโรไวรัส (Enteroviruses) ซึ่งอยู่ในลำไส้คน มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ก่อโรค ได้แก่ ค็อกซากี่ไวรัส กลุ่มเอ (Coxsackie virus group A) ซึ่งเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ชนิดนี้ และสายพันธุ์ที่อาการรุนแรงคือ เอ็นเทอโรไวรัส 71 หลังจากเด็กได้รับเชื้อประมาณ 4-6 วัน จะมีไข้ อ่อนเพลีย ไม่กินนม เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีตุ่มน้ำใสหรือแผลที่คอ ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และมีตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือก้น ระยะตุ่มน้ำใสนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้ง่ายที่สุด โดยเชื้อไวรัสจะอยู่ในตุ่มน้ำใส จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสตุ่มน้ำใส เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาโดยตรง แพทย์จะรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอาการที่รุนแรง หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เด็กจะหายได้เองประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศใกล้เคียง มีรายงานที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม พบผู้ป่วยสะสมในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 7 เท่า ในเดือนเมษายน 2551 มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่มารักษาที่โรงพยาบาลทุกวัน วันละประมาณ 30-100 ราย ที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 26 เมษายน 2551 พบผู้ป่วยสะสมประมาณ 8,400 ราย การระบาดมีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนั้นประเทศสิงคโปร์ได้ปิดโรงเรียนอนุบาลและศูนย์รับเลี้ยงเด็ก


   
   


View 16    07/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ