พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีฯ พระราชทานของเยี่ยมเพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขในการควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 และพระราชทานรถตรวจเชื้อชีวนิรภัยเพิ่มอีก 7 คัน ส่งลงพื้นที่เสี่ยง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำโรงพยาบาลสนามช่วยแยกผู้ติดเชื้อ ป้องกันการแพร่เชื้อต่อมีมาตรการเช่นเดียวกับโรงพยาบาล

          วันนี้ (7 มกราคม 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด มีความห่วงใยประชาชน และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ได้พระราชทานของเยี่ยมให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 นำมาซึ่งความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชทานรถเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีก 7 คัน รวมเป็น 20 คัน ช่วยให้การตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทำได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

       นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามใน จ.สมุทรสาคร มีลักษณะเป็น Cohort Ward ดูแลผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย จากการค้นหาเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้มีความต้องการอีกประมาณ 2-3 พันเตียง ทั้งนี้ ยืนยันว่าโรงพยาบาลสนามทุกแห่งดำเนินการตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีความปลอดภัย เนื่องจากเชื้อโควิด 19 ติดต่อผ่านน้ำมูกน้ำลาย สามารถแพร่กระจายได้ในระยะ 2 - 5 เมตร การเว้นระยะห่างจึงมีความสำคัญ และจัดตั้งในบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวาง โปร่ง ห่างจากชุมชน และมีการจัดระบบต่างๆ ที่ได้มาตรฐานการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของโรงพยาบาล ทำให้ไม่แร่เพชื้อไป โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะดูแลเรื่องโครงสร้างทางวิศวกรรม กรมอนามัยดูแลระบบสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรคดูแลระบบการควบคุมโรค กรมการแพทย์ดูแลรักษา โดยร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ (UHOSNET) ซึ่งขณะนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดี และวชิรพยาบาลได้ส่งทีมมาช่วยที่โรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลที่ต้องการความช่วยเหลือ รับการสนับสนุนเครื่องมือ ยา และเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ ให้ประสานกรมการแพทย์ และกรมสุขภาพจิต ส่งทีมเอ็มแคท ดูแลด้านจิตใจ รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

          "การตั้งโรงพยาบาลสนามทุกแห่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นการแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ ป้องกันการแพร่เชื้อ สำหรับสถานที่จัดตั้งนั้นทางจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการ อาจขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานรัฐอื่นหรือภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนการกักตัวผู้ติดเชื้อในโรงงาน (Factory Quarantine) ก็จะเข้าไปช่วยดูแลระบบต่างๆ ให้มีความปลอดภัย ทั้งการป้องกันการติดเชื้อ การส่งอาหารและน้ำ" นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว

 ******************************* 7 มกราคม 2563

 

**********************************



   
   


View 2597    07/01/2564   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ