กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์โรคหัวใจแห่งแรกของภาคตะวันออก ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ให้การผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจครอบคลุม 4 จังหวัด ได้ปีละกว่า 300 ราย สามารถผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ปีละกว่า 100 ราย ในปีนี้เพิ่มบริการสวนหัวใจรักษาเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัด บ่ายวันนี้ (2 พฤษภาคม 2551) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์โรคหัวใจ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ซึ่งอยู่ที่ชั้น 6 ของอาคาร อายุรศาสตร์ ว่า จากสถิติล่าสุดปี 2549 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งหมดกว่า 3 แสนราย เสียชีวิต 17,775 ราย เป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทย รองจากโรคมะเร็ง อุบัติเหตุจราจร และมีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับจังหวัดจันทบุรี ในปี 2550 พบผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 16,393 ราย ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจเพียง 46 แห่ง โดย 2 ใน 3 ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล มีศูนย์โรคหัวใจที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ และทำผ่าตัดหัวใจแบบเปิดเพียง 29 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวรักษานาน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเพิ่มศูนย์โรคหัวในต่างจังหวัดให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนรักษาใกล้บ้าน ภาคละประมาณ 4 แห่ง นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2547 ศูนย์โรคหัวใจแห่งนี้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ วินิจฉัย รักษาผ่านสายสวนกับโรคหลอดเลือดหัวใจ ลิ้นหัวใจ การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ และการบริการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การผ่าตัดหัวใจฉุกเฉิน อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ ได้ปีละกว่า 300 ราย นอกจากนี้ยังให้บริการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้ปีละ 100 ราย ลดการเสียชีวิต ของผู้ป่วยจากโรคหัวใจทุกประเภทลงได้เป็นอันมาก ด้านนายแพทย์ดาวฤกษ์ สินธุวณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี กล่าวว่า โรคหัวใจที่พบ ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นผลมาจากความอ้วน หรือมีไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ส่วนที่เหลือเป็นโรคหัวใจที่พบความผิดปกติตั้งแต่เด็กๆ โดยศูนย์โรคหัวใจแห่งนี้ ให้บริการประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง สระแก้ว ตราดและจันทบุรี มีการจัดระบบช่องทางด่วนพิเศษในการส่งต่อผู้ป่วย เพื่อตรวจพิเศษโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ ได้รับบริการที่รวดเร็วมากขึ้น ได้จัดตั้งชมรมรักษ์หัวใจสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจไปแล้ว และยังมีแผนพัฒนาค้นหาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติกที่อยู่ในชุมชน ให้ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงด้วย สำหรับแผนพัฒนาศูนย์โรคหัวใจของโรงพยาบาลพระปกเกล้า ในปี 2551 นี้ ได้เปิดบริการตรวจสวนหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาผ่านทางสายสวนเข้าไปที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจโดยตรง ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อใส่บอลลูนหรือขดลวดเพื่อถ่างขยายหลอดเลือด ให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นเทคนิคชั้นสูงใช้กันทั่วโลก เป็นการช่วยชีวิตฉุกเฉินแก่ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน นายแพทย์ดาวฤกษ์ กล่าว ******************************* 2 พฤษภาคม 2551


   
   


View 9    02/05/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ