รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ายกระดับระบบหลักประสุขภาพแห่งชาติ บนหลักความเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วม เสนอไอเดียจ้าง “หมอเกษียณ” ช่วยรักษาประชาชน สนับสนุน 30 บาทรักษาทุกที่ ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์ เน้นคุณภาพโรงพยาบาลทุกระดับ สร้างความมั่นใจคนไข้ ลดปัญหาการไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่

          วันนี้ (14 ตุลาคม 2563) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กทม.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่องยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2564 ว่า ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคมากว่า 18 ปี ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ลดความยากจน เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยขับเคลื่อนอยู่บนหลัก 3 เรื่อง คือ ความเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วม

          โดยหลักความเท่าเทียม คือ การที่คนไทยเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งยุคเริ่มแรกอาจยังไม่ครอบคลุมทุกโรค แต่ปัจจุบันได้พัฒนาให้ครอบคลุมเรียกได้ว่า 30 บาทรักษาทุกโรคจริงๆ สำหรับหลักความมีประสิทธิภาพ ได้จัดสรรงบประมาณสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สร้างความรู้ให้แก่ประชาชนให้สามารถดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ถือเป็นการช่วยประเทศ เพราะจะลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา เมื่อคนไทยแข็งแรง สังคม เศรษฐกิจของประเทศก็จะแข็งแรงด้วย และที่สำคัญการบริการจะสะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะหากทุกคนพร้อมใจกันป่วย ไม่มีการคัดกรองแยกประเภทผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่กันหมด จะเกิดความแออัด ไม่สะดวก และบริการล่าช้า 

          ส่วนหลักการมีส่วนร่วม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะทำงานร่วมกันเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการอย่างมีคุณภาพทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องมีระบบที่เอื้อให้ลูกหลานทำงานและดูแลผู้สูงอายุพร้อมกันไปด้วยได้ เพราะหากต้องลาออกจากงานขาดรายได้ จะทำให้ระบบถดถอย กลายเป็นปัญหาที่ต้องดูแลต่อเนื่องอีก ซึ่งนโยบายคนไทยมีหมอประจำตัว 3 คน คือ อสม. หมอประจำบ้าน หมอสาธารณสุข และหมอประจำครอบครัว เข้ามาช่วยดูแลถือเป็นคำตอบในการช่วยเหลือเรื่องนี้

          “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ หลายคนอาจกังวลที่ผู้ป่วยแห่ไปเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความแออัดและรอคิวนาน จริงๆ เป็นการขับเคลื่อนในเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิคือ ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, โรงพยาบาลชุมชน สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ การทำให้โรงพยาบาลทุกระดับมีคุณภาพ เช่น เพิ่มบริการด้านทันตกรรมและการแพทย์อื่นๆ ในรพ.สต. และที่จำเป็นต้องทำคือ ต้องทำให้คนไทยเป็นวีไอพี ซึ่งคำว่าวีไอพีไม่ได้แปลว่าต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แต่หมายถึงโรงพยาบาลจะทิ้งขว้างไม่ได้ คำว่าอนาถาต้องไม่มี เช่นการให้คีโมที่บ้านที่มีแพทย์มาดูแลถึงที่ สามารถอยู่บ้านอย่างมีคุณภาพ เพราะอยู่โรงพยาบาลเป็นเวลานานเสี่ยงติดเชื้อ ส่วนเรื่องเทเลเมดิซีน การจัดส่งยาถึงบ้าน อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จะต้องเป็นบริการมาตรฐาน” นายอนุทินกล่าว 

         สำหรับปัญหาแพทย์ขาดแคลน ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาการจ้างแพทย์เกษียณอายุราชการมาให้บริการประชาชนที่ รพ.สต.หรือโรงพยาบาลชุมชน สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนวางใจมารับบริการ เนื่องจากเป็นแพทย์ที่มีทักษะและประสบการณ์ นอกจากจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแล้วยังช่วยให้ความรู้ประสบการณ์แก่แพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาอีกด้วย

 **************************** 14 ตุลาคม 2563



   
   


View 1049    14/10/2563   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ