รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าซีแอลยามะเร็งพร้อมให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยา ขณะเดียวกันจะขยายช่องทางให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในรายที่เป็นเริ่มแรก โอกาสรอดชีวิตสูงกว่าการกินยา หลังเซลล์ลุกลาม โดยจะซื้อเครื่องฉายรังสีรักษาให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งทั่วประเทศ คาดใช้งบ 2 พันล้านบาท ตรวจพบปุ๊บรักษาปั๊บไม่ต้องเข้าคิวรอ
วันนี้ (7 มีนาคม 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร พบตัวแทนชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมามอบดอกไม้แสดงความยินดีและขอให้ดูแลเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของบุคลากรโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งปัญหาขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล
นายไชยา กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้รับทราบถึงปัญหาขาดแคลนบุคลากร จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ทาง ก.พ. ได้คืนตำแหน่งผู้เกษียณอายุราชการให้กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดแล้ว ปัญหาเรื่องนี้น่าจะคลี่คลายได้มากขึ้น ขอให้ทุกคนทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ สิ่งใดที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและกระทรวงสาธารณสุข สามารถเสนอมาได้ตลอดเวลา และในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ขอให้ความมั่นใจว่าจะดูแลบุคลากรทุกคน รวมทั้งประชาชนให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด
สำหรับเรื่องการทำซีแอล ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียประโยชน์นั้น ขอยืนยันว่ามีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้คือ ผู้ป่วยทุกคนต้องเข้าถึงยา แต่เมื่อเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ก็ต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน ได้แต่งตั้งให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นมิสเตอร์ซีแอล มีการประชุมร่วมกับ สปสช. และเครือข่ายผู้ป่วย เพื่อดูจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาและค่าใช้จ่ายต่อปี เปรียบเทียบระหว่างยาต้นแบบกับยาสามัญ ซึ่งจะได้ข้อสรุปในวันนี้ และจะนำไปประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป
นายไชยา กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับนายแพทย์ยงยุทธ คงธนารัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานรังสีรักษา โรงพยาบาลราชวิถี และนายกสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย ได้รับทราบข้อมูลว่า โรคมะเร็ง 1 ใน 3 รักษาหายขาด อีก 1 ใน 3 ป้องกันได้ โดยวิธีรักษาโรงมะเร็งที่สำคัญและได้ผลมากที่สุดคือ การผ่าตัดและการฉายแสง หากรักษาในระยะที่ 1-2 ซึ่งโรคยังไม่ลุกลาม มีโอกาสหายขาด ส่วนการกินยานั้นไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งได้ เป็นเพียงการช่วยเสริมให้การรักษาได้ผลมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้การรักษาไม่ได้ผล คือผู้ป่วยอยู่ในระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปแล้ว เนื่องจากไม่รู้ตัวว่าป่วยทำให้มาพบแพทย์ช้า อีกส่วนหนึ่งรู้ว่าป่วยแล้วแต่ต้องรอคิวรับการรักษานาน เป็นปัญหาการเข้าถึงการรักษา จึงต้องเพิ่มการลงทุนค้นหาโรคมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และหลังพบสามารถให้การรักษาทันที โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีศูนย์รักษาโรคมะเร็งทั้งหมด 8 แห่ง อยู่ในกทม. 1 แห่ง และภูมิภาค 7 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลศูนย์มีเครื่องฉายรังสี 2 เครื่อง ดังนั้นจะเร่งจัดหาเครื่องฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งให้โรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาบุคลากรให้สามารถให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีได้ภายในปี 2556 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท ได้มอบให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการโดยเร็ว
................................... 7 มีนาคม 2551
View 9
07/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ