กระทรวงสาธารณสุข เร่งทำโครงการแพทย์อาสา หมุนเวียนแพทย์เฉพาะทางจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกสังกัด ไปให้บริการในโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการประชาชน เผยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการสูงขึ้น เนื่องจากต้องจัดหาแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม เตรียมเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวประชาชนพื้นที่ชายแดนภาคใต้มากขึ้น
นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรแพทย์ที่มีอยู่แล้วยิ่งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่ต้องรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือหน่วยงานและเครือข่ายทางการแพทย์ อาทิ เจ้ากรมแพทย์ทุกเหล่าทัพ คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยระหว่างที่รอแพทย์เฉพาะทางจบการศึกษา ได้จัดโครงการแพทย์อาสาช่วยปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551 - 30 กันยายน 2554 มีกรมการแพทย์ เป็นหน่วยประสานกลาง จัดทำกำหนดการปฏิบัติงานของแพทย์จากหน่วยงานต่างๆ ส่วนโรงพยาบาลในพื้นที่ ให้ดูแลความสะดวกการเดินทาง การปฏิบัติงาน อาหารและที่พักของแพทย์
นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน ในส่วนของแพทย์ที่มาช่วยปฏิบัติงาน ประมาณปีละ 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 15 ล้านบาท คณะกรรมการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเห็นว่าควรขอสนับสนุนจาก สปสช. เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต้นสังกัด แต่ สปสช. ไม่สามารถสนับสนุนงบได้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งบประมาณ อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่างบรายหัวในพื้นที่ชายแดนภาคใต้น่าจะเพิ่มมากกว่าที่อื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งศึกษาต้นทุนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่นๆ เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาปรับงบรายหัวพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2552 เพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการเพิ่มงบส่วนนี้ นอกจากจะนำไปช่วยสนับสนุนการจัดโครงการฯ แล้ว ยังสามารถใช้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเสี่ยงภัย ค่าส่งต่อผู้ป่วยในเวลาวิกาล เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการครั้งล่าสุดในโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และโรงพยาบาลสตูล พบว่าทุกแห่งยังขาดแพทย์ด้านศัลยกรรมทั่วไป แห่งละ 1 คน ส่วนโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ขาดแพทย์ด้านสูติกรรม อีก 1 คน และโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ขาดแพทย์ด้านศัลยกรรมกระดูกอีก 1 คน
********************************* 5 มีนาคม 2551
View 13
05/03/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ