รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แบ่งงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขดูแล 6 กรม และให้ดูแลโครงการพัฒนาสาธารณสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่วนที่เหลือคือ สป. กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเอง และผุดนโยบาย ให้ อสม. ช่วยดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในหมู่บ้าน ให้ค่าตอบแทนรายละ 30 บาท เป็นแรงจูงใจ
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2551) ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 201/2551 มอบอำนาจให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 6 กรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสนับสนุนบนริการสุขภาพ และให้ดูแลโครงการพัฒนาสาธารณสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งดูแลทางด้านกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข
หน่วยงานส่วนที่เหลือ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สว.รส.) จะดูแลเอง
นายไชยา กล่าวต่อไปว่า ในการแก้ปัญหาสุขภาพ จะเน้นคุณภาพของโครงการหลักประกันสุขภาพ เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการก่อน จะเน้นโรคติดต่อ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคอุบัติใหม่ โรคที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน เน้นการทำงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยอาศัยกำลังของ อสม.ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันจะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อลดโรค ลดปัจจัยเสี่ยง ไม่ให้คนที่มีสุขภาพดีเจ็บป่วย และจะให้อสม.ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังในหมู่บ้าน เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน เพิ่มแรงจูงใจโดยให้ค่าตอบแทนดูแลผู้ป่วยรายละ 30 บาทต่อเดือน และนำงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมาบริหารจัดการในส่วนนี้
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในยุคที่เนื้อสุกรมีราคาแพงขึ้น และอาจจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้ให้ สำนักงานสาธารณศุขจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทั้งเนื้อและเครื่องใน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
************************** 25 กุมภาพันธ์ 2551
View 12
25/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ