สาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนอย่านำไก่ป่วย ที่กำลังมีอาการหงอย ซึม มาเชือดทำอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตราย เสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดนกได้ หากประชาชนมีอาการป่วย มีไข้ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย อย่าซื้อยารักษาเอง ขอให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสให้ละเอียดเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว แจงผลการเฝ้าระวังกว่า 17 เดือน ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2549 ก็ตาม แต่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากยังมีรายงานพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติในหลายจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ประชาชนอย่าชะล่าใจ ขอให้นึกถึงโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน “ที่น่าเป็นห่วงก็คือ จากการติดตามผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวม ยังพบว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก มีประวัติจับไก่ที่มีอาการซึม หงอย มารีบเชือดกินเพราะเสียดาย ซึ่งอันตรายมาก เพราะหากไก่ตัวนั้นป่วยจากการติดเชื้อไข้หวัดนก ผู้ที่นำไก่ไปเชือดต้องสัมผัสกับเลือด น้ำมูก น้ำลาย มูลไก่ ซึ่งมีเชื้อไข้หวัดนกอยู่ ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงขอย้ำเตือนประชาชนทุกคน อย่าเสียดาย นำไก่หรือสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย มาชำแหละทำอาหารรับประทานเป็นอันขาด” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่มีอาการป่วยเป็นไข้ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย อย่าซื้อยารักษาเอง ขอให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยหรือตายด้วย เพื่อแพทย์จะได้ตรวจให้ละเอียดและรักษาได้ทันท่วงที และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ขอให้สงสัยว่าเป็นไข้หวัดนกไว้ก่อน และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรืออสม.ทันที หากจับซากสัตว์ปีกที่ตายจะต้องสวมถุงมือหรือสวมถุงพลาสติกทุกครั้ง อย่าจับต้องหรือสัมผัสด้วยมือเปล่า และหมั่นล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 กุมภาพันธ์ 2551 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสะสมทั้งหมด 182 ราย จาก 46 จังหวัด โดยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ได้รับรายงานผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง 2 ราย จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชัยภูมิ ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดนกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 ทั่วโลกมีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก รวม 361 ราย เสียชีวิต 227 ราย ใน 14 ประเทศ คือ อาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว ตุรกี เวียดนาม ไนจีเรีย เมียนมาร์ ปากีสถาน และไทย ซึ่งมีผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย รายล่าสุดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 จนถึงขณะนี้ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ *********************************** 18 กุมภาพันธ์ 2551


   
   


View 10    18/02/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ