กระทรวงสาธารณสุข ยันไม่เคยบังคับทำหมันหญิงพิการ การทำหมันต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองทุกครั้ง ชี้หญิงพิการสามารถแต่งงานมีครอบครัวได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่หากจะมีลูกต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อม ความเหมาะสม เนื่องจากความพิการบางชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น ปัญญาอ่อน
จากการที่อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยผลการศึกษาชีวิตด้านเพศของหญิงพิการ พบหญิงพิการเป็นกลุ่มที่ถูกควบคุมเรื่องเพศเกือบทุกด้าน ตั้งแต่ห้ามไม่ให้มีความรัก ไม่ให้มีความรู้สึกและความต้องการทางเพศ ยิ่งกว่านั้นส่วนใหญ่จะถูกบังคับ หรือพูดจาหว่านล้อมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ทำหมันโดยที่เจ้าตัวไม่เต็มใจ หรือบางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าถูกทำหมันไปแล้ว ส่วนคนที่ตั้งท้องจะถูกตำหนิจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่าไม่มีความรับผิดชอบ มีลูกให้เป็นภาระของสังคม ส่วนการมีเพศสัมพันธ์ของหญิงพิการที่ใช้เพียงการสัมผัส ก็ยังถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดนั้น
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลผลการวิจัยดังกล่าว มีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะเรื่องการบังคับให้หญิงพิการทำหมันเพื่อไม่ให้มีลูกนั้น ขอชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงสิทธิคนทุกกลุ่มวัย ทุกประเภท รวมทั้งผู้พิการด้วย ที่จะจัดบริการวางแผนครอบครัวให้เหมาะสมที่สุด และได้รับริการอย่างหลากหลายยิ่งขึ้น ไม่เคยมีนโยบายบังคับให้หญิงพิการทุกคนต้องทำหมัน
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีบริการให้คำปรึกษาผู้ปกครองที่มีลูกพิการ ซึ่งความพิการมี 5 ประเภท ได้แก่ พิการทางการมองเห็น พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหว พิการทางจิตและพฤติกรรม และพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้ โดยผู้พิการทุกประเภทมีสิทธิ์แต่งงานมีครอบครัว ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่ในกรณีต้องการมีลูกเพื่อสืบทายาทนั้น ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ว่าลูกที่เกิดมา จะมีความเสี่ยงต่อความผิดปกติหรือความพิการหรือไม่
เนื่องจากความพิการบางประเภท เช่น ปัญญาอ่อน สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด กลุ่มอาการพาทาว กลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ คนกลุ่มนี้จะมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ มีความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าคนปกติ อาจถูกชักจูงได้ง่าย ก็อาจจะต้องมีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมา กระทรวงสาธารณสุขจะให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ ให้ตัดสินใจเลือกวิธีการที่ดีที่สุด และหากเลือกวิธีทำหมัน ก่อนที่จะทำการผ่าตัดทุกครั้ง จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้รับบริการหรือผู้ปกครองก่อน หากไม่ประสงค์ยินยอมก็จะไม่มีการบังคับแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้พัฒนาคุณภาพระบบบริการการวางแผนครอบครัวในสถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ โดยจัดอบรมฟื้นฟูความรู้ด้านนี้แก่เจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปถึงหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถจัดบริการแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ครอบคลุมทุกพื้นที่
กุมภาพันธ์1/6 ******************************* 6 กุมภาพันธ์ 2551
View 14
06/02/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ