กระทรวงสาธารณสุข จับมือมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดศูนย์ผ่าตัดรักษาโรคหัวใจแห่งแรก บริการประชาชนใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง สามารถใช้ห้องผ่าตัด เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์และศัลยแพทย์ร่วมกันอย่างคล่องตัว ไม่ยึดติดระบบราชการ เผยขณะนี้มีคนไทยกว่า 3 แสนคน ป่วยเป็นโรคหัวใจ เสียชีวิตชั่วโมงละ 3 คน อยู่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเกือบ 40,000 คน
วันนี้ (22 มกราคม 2551) ที่ห้องประชุมบุณยวงศ์วิโรจน์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ และรองศาสตราจารย์ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานศูนย์โรคเฉพาะทางเขต 2 ระหว่าง โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กระทรวงสาธารณสุข กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อกำหนดนโนบายและวางแผนความร่วมมือ ในการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาล ในขั้นที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความชำนาญและใช้เทคโนโลยีชั้นสูงทันสมัย เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วยพิษณุโลก นครสวรรค์ ตาก อุทัยธานี กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยในระยะแรกจะเป็นความร่วมมือกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจของภาคเหนือตอนล่างขึ้นพร้อมให้บริการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดในปี 2549 พบผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วประเทศทั้งหมด 328,195 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ภาคกลางมากถึง 109,540 ราย คิดเป็นร้อยละ 33 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคใต้ 90,348 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ภาคเหนือ 76,170 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 และภาคใต้ 52,137 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 เสียชีวิตทั้งหมด 29,148 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เฉพาะใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีผู้ป่วยเกือบ 40,000 ราย เสียชีวิต 3,709 ราย ปัญหาของผู้ป่วยโรคหัวใจคือ มีศูนย์รักษาน้อย ทั่วประเทศมีเพียง 24 แห่ง ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน โดยในภาคเหนือมีโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดโรคหัวใจได้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงต้องเร่งพัฒนาระบบบริการ โดยระดมทรัพยากรในภาครัฐที่มีอยู่ร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
สำหรับความร่วมมือในการรักษาโรคหัวใจ ระหว่างโรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการร่วมกันโดยใช้ชื่อว่า ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นศูนย์ความร่วมมือแห่งแรกในเขตพื้นที่นี้ ทั้ง 2 โรงพยาบาลสามารถใช้ห้องผ่าตัด เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์และศัลยแพทย์ร่วมกัน โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตตามระบบราชการ นอกจากนี้ ยังให้มีการจัดเวรร่วมกันได้แก่ ตารางเวรออกตรวจคลินิกโรคหัวใจ ตารางการเรียนการสอน และบริการผ่าตัดทั้งในและนอกเวลาราชการ เพื่อให้เกิดความสะดวกทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พร้อมทั้งจะเร่งดำเนินการขยายสาขาการให้บริการอื่น เช่น การผ่าตัดสมอง รักษาโรคมะเร็ง ให้เพิ่มมากขึ้นโดยเร็วที่สุด นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
******************************* 22 มกราคม 2551
View 10
22/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ