กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนามาตรฐานบริการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมทั้งในเขตเมืองและชนบท เพิ่มความสะดวก ลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง 95 แห่งทั่วประเทศ โดยที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เปิดศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองคล้ายโพลีคลินิกร่วมกับเทศบาล แบ่งเบาภาระโรงพยาบาลใหญ่ บริการรวดเร็วใช้เวลา 30 นาที ประชาชนเข้ารับบริการวันละ 60-70 คน ในปีนี้เตรียมเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 แห่ง
วันนี้ (21มกราคม 2551) ที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ แพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพูลศักดิ์ พุ่มวิเศษ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ติดตามโครงการ บริการประทับใจ ไร้ความแออัด พัฒนาเครือข่าย จังหวัดร้อยเอ็ด และตรวจเยี่ยมศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง 1 (วัดเหนือ) พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมสถานที่จะปรับปรุงเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนแห่งที่ 2และโรงพยาบาลอำเภอเมือง ซึ่งจะเปิดให้บริการให้ได้ในปีนี้ เพื่อให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยโรคทั่วๆ ไป จากทีมแพทย์ อย่างสะดวก รวดเร็วขึ้น ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลร้อยเอ็ด
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางนโยบายพัฒนาบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โดยในชนบทจะสร้างโรงพยาบาลประจำกิ่งอำเภอที่ยังไม่มีโรงพยาบาล ให้ครบทุกแห่ง รวมทั้งเพิ่มศักยภาพของสถานบริการ โดยหมุนเวียนแพทย์ พยาบาลไปให้บริการที่สถานีอนามัย ส่วนโรงพยาบาลชุมชน จะเพิ่มแพทย์เฉพาะทาง เช่น สูติแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารเวชกรรม ซึ่งจะทำให้ประชาชนในชนบท โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นโรคเบาหวาน ได้รับบริการใกล้บ้าน จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ต้องยอมรับว่า ขณะนี้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัด ซึ่งร้อยละ 99 อยู่ในอำเภอเมือง มีผู้ป่วยแน่นแออัดมาก โดยเฉพาะที่แผนกผู้ป่วยนอก บางแห่งมีถึงวันละ 3,000 คน ทำให้แพทย์ เจ้าหน้าที่มีเวลาดูแลผู้ป่วยน้อย มีภาระงานหนัก ทั้งตรวจรักษาประชาชนในเขตจังหวัด และยังเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซับซ้อนและโรคเฉพาะทางจากโรงพยาบาลชุมชน นายแพทย์มงคล กล่าว
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาพบว่าผู้ที่ไปตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ร้อยละ 80 ป่วยด้วยโรคพื้นฐานทั่วๆ ไป เช่นปวดหัว เป็นไข้ ไม่จำเป็นต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่คือโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่มี 95 แห่งทั่วประเทศ ให้ประชาชนได้รับบริการรวดเร็ว คล่องตัว โดยจัดบริการในลักษณะของโพลีคลินิก ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกทั่วไปหลายด้าน ที่อาการไม่ซับซ้อน รายใดมีอาการรุนแรง ต้องดูแลต่อ จะใช้ระบบส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลจังหวัด เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางได้รักษาโรคยากๆ ได้เต็มที่ มีเวลาพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดกล่าวว่า โรงพยาบาลร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลขนาด 549 เตียง ต่อวันผู้ป่วยนอกมีเข้ารักษาเฉลี่ย 1,100 ราย มีผู้ป่วนนอนรักษากว่า 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในการแก้ปัญหา โรงพยาบาลได้ร่วมกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เปิดศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง(วัดเหนือ) ตั้งที่เทศบาลร้อยเอ็ด มีลักษณะคล้ายโพลีคลินิก
โดยโรงพยาบาลร้อยเอ็ดจัดบุคลากร งบประมาณและการบริหารจัดการ เปิดทำการเมื่อ เดือนตุลาคม 2550 มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 2 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาลและเจ้าหน้าที่เทคนิคอื่นๆรวม 20 คน ให้บริการ ตรวจรักษาโรคทั่วไป คลินิกเบาหวาน- ความดันโลหิตสูง คลินิกวัณโรค ทำฟัน คลินิกสุขภาพเด็กดี ให้บริการทุกวันในเวลาราชการเหมือนที่โรงพยาบาล มีประชาชนรับบริการวันละ 60-70 คน เฉลี่ยให้บริการคนละ 30 นาที จากการประเมินความพึงพอใจพบว่าประชาชนพอใจในบริการมาก เพราะไม่ต้องรอตรวจนาน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2551 นี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดมีแผนจะจัดสถานบริการสาธารณสุขในเขตเมือง เพิ่มอีก 2 แห่ง คือศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองแห่งที่ 2 ขณะนี้รอส่งมอบอาคารจากกรมที่ดิน และโรงพยาบาลเมืองร้อยเอ็ด อยู่ระหว่างการปรับปรุงและขอเปิดเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 90 เตียง เพื่อรองรับตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทั่วๆไป ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลอำเภอเมืองแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการแยกการบริหารจัดการออกจากโรงพยาบาลจังหวัดอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาเครือข่ายสถานบริการรอบนอก โดยจะยกระดับโรงพยาบาลโพนทอง ให้เป็นศูนย์ศัลยกรรมและอุบัติเหตุของจังหวัดอีก 1 แห่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ โพนทอง หนองพอก เมยวดี และโพธิ์ชัย อีกด้วย
************************************ 21 มกราคม 2551
View 9
21/01/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ