กระทรวงสาธารณสุข เตรียมปรับกระบวนการรักษาหญิงที่ตั้งครรภ์หลังแท้งลูก โดยจะจดทะเบียนยาใหม่ “ไมฟีพริสโตน” หรืออาร์ยู 486 และเสนอคณะกรรมการยาในการลดการควบคุมยา “ไมโสโพรสตอล” เพื่อนำมาใช้รักษาหลังแท้งลูกตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เนื่องจากมีความปลอดภัย และเปลี่ยนวิธีการรักษาผู้หญิงตกเลือดหลังแท้งไม่ครบ ด้วยวิธี “เอ็มวีเอ” ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการช่วยเหลือหญิงที่ทำแท้งหลังตั้งครรภ์ขณะที่ยังไม่พร้อม ว่า จากการประชุมระดมความคิดเห็นทั้งจากฝ่ายการแพทย์ ฝ่ายกฎหมาย ทนายความ ตำรวจ องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก และจากประเทศออสเตรีย ที่จังหวัดเชียงราย เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้ออย่างรุนแรงหลังทำแท้ง ซึ่งพบสูงถึงร้อยละ 40 ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ทำแท้งสูงถึง 300 คนต่อแสน โดยร้อยละ 60 ของผู้ที่ทำแท้งเป็นวัยรุ่นและเยาวชน ที่ประชุมได้มีข้อเสนอทางออกของเรื่องนี้ แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ประเด็นแรก คือพัฒนาคุณภาพบริการหญิงหลังแท้งและการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ โดยเน้นการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย การให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการแท้งซ้ำ และการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัย ทันสมัย ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ 2 วิธีคือ การรักษาอาการตกเลือดเนื่องจากแท้งไม่ครบโดยการใช้เครื่องมือ เสนอให้เปลี่ยนจากการใช้เครื่องมือขูดมดลูกที่เรียกว่า คิวเร็ท (curette) เป็นวิธีเอ็มวีเอ (MVA) โดยใช้กระบอกสุญญากาศดูดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่ตกค้างในโพรงมดลูกออกแทน เนื่องจากการใช้เครื่องมือขูดมดลูกเสี่ยงอันตรายมดลูกทะลุสูงมาก ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่เลิกใช้วิธีนี้แล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เร่งปรับเปลี่ยนใช้วิธีใหม่โดยเร็ว และให้การรักษาโดยการใช้ยา นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า ยาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำในการรักษาการตกเลือดหลังแท้ง และการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มี 2 ชนิด ได้แก่ ยาไมฟีพริสโตน (Mifepristone) หรืออาร์ยู 486 (RU 486) ซึ่งมีใช้ในต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นคำขอขึ้นทะเบียนในไทย แต่มีข้อบ่งใช้สำหรับเป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน และการใช้ยาไมโสโพรสตอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยจะเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนและใช้ยาดังกล่าวอย่างมีเงื่อนไข ซึ่งจะสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เสนอยาทั้ง 2 รายการเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการยา เพื่อพิจารณาความเหมาะสมโดยเร็ว ประเด็นที่ 2 คือ เพิ่มการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนให้แพทย์ปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 305 โดยให้แพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ควบคุมดูแลคุณภาพในการบริการของแพทย์ ให้แพทยสภาเร่งจัดทำแบบฟอร์มรายงาน ประกอบการปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์แล้ว และชี้แจงประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับแพทย์ บุคลากรสาธารณสุข กลุ่มวิชาชีพอื่น อาทิ ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ ทนาย สื่อมวลชนและสังคมในเรื่องปัญหานี้ ประเด็นที่ 3 ให้กรมอนามัยเร่งรณรงค์เรื่องการป้องกัน โดยให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ด้วยวิธีการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด ประเด็นสุดท้าย ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความรู้สร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีเรื่องปัญหาการแท้งที่ไม่ปลอดภัย ให้กับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าทัศนคติของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ มองผู้หญิงที่ทำแท้งเหมือนผู้กระทำผิด สังคมยอมรับไม่ได้ ทำให้ผู้หญิงมีปัญหาจากการตั้งครรภ์ไม่กล้าเข้าไปรับบริการ ต้องไปทำแท้งเถื่อนโดยผู้ที่ไม่มีความรู้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ และเกิดการติดเชื้อตามมา นายแพทย์มรกตกล่าว ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เสนอให้กรมอนามัย จัดการอบรมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เรื่องการป้องกันการแท้งที่ไม่ปลอดภัย และเสนอให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับต่างๆ เรื่องการดูแลสตรีที่มีปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และการแท้งที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการดูแลรักษา เพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งกรมอนามัยจะได้จัดแผนการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องต่อไป **************************** 1 มกราคม 2551


   
   


View 11    01/01/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ