รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อย่าเสี่ยงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉลองปีใหม่ มีโอกาสเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตหรือเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกได้ หัวใจวายเพราะหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ชี้ผลการตรวจล่าสุดในเดือนกันยายน 2550 พบคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 2 ล้าน 4 แสนคน เป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงอีกกว่า 8 ล้านคน
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน มักมีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูง หรือในหมู่ญาติ ทุกงานมักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกครั้งที่ไปร่วมงาน นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุการเดินทางแล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้มีไขมันในเลือดสูงขึ้น และทำให้อ้วนได้ง่าย เนื่องจากในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 กรัมให้พลังงานสูงถึง 7 กิโลแคลอรี พลังงานส่วนเกินเหล่านี้ จะไปสะสมในร่างกาย และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นด้วย
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง จะต้องมีความระมัดระวังในช่วงเทศกาลงานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งจากการรณรงค์วัดความดันโลหิตในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2550 พบผู้มีความดันโลหิตสูงมากถึง 2 ล้าน 4 แสนคน ในจำนวนนี้ไม่เคยรู้ตัวมาก่อน 1 ล้าน 3 แสนคน หรือมีกว่าครึ่งที่ยังไม่รู้ตัวว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง นอกจากนี้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงซึ่งมีอีกกว่า 8 ล้านคน ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ร้อยละ 95 ของเหล้าที่ดื่มจะซึมเข้ากระแสเลือด โดยผ่านทางเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะไปขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น เส้นเลือดจึงแตกง่าย เพิ่มโอกาสเสี่ยงหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) หรือที่เรียกกันว่า อัมพฤกษ์อัมพาต นอกจากนี้ ฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้เม็ดเลือดเกาะกันเป็นก้อนเหนียว ทำให้การไหลเวียนเลือดหนืดขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย เกิดโรคหัวใจล้มเหลว การทำงานของไตล้มเหลว และเสียชีวิตได้
นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ยืนยันตรงกันว่า ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 3 - 17 เท่า เบาหวานเพิ่มความเสี่ยง 3 เท่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยง 2 เท่า ไขมันในเลือดสูงเพิ่มความเสี่ยง 1.5 เท่า หากมีหลายโรคร่วมกันโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งจากสถิติปี 2549 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง 12,921 ราย ขณะที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 10,421 ราย
นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนที่ใช้ยวดยานพาหนะในการเดินทาง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ถ้าง่วงขอให้หยุดพัก หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับขี่รถทุกประเภท เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจราจรได้ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะกดการทำงานของสมอง หากมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากเกิน 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอาการมึนเมา เดินโซเซทรงตัวไม่ได้ เกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอาการสับสน และหากดื่มหนักมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะหมดสติและอาจเสียชีวิตได้
*************31 ธันวาคม 2550
View 10
31/12/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ