“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 368 View
- อ่านต่อ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรคจากยุงลาย คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 20 กุมภาพันธ์ 2561 พบผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้ว 2,526 ราย มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 42 เป็นเด็กนักเรียน แม้จำนวนผู้ป่วยจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ มีฝนตกประปรายต่อเนื่อง ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ประสานความร่วมมือกับชุมชน และท้องถิ่นในการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก และขอให้ทุกคนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง ในภาชนะต่าง ๆ ต้นไม้ ในบริเวณบ้าน และโรงเรียน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ลูกน้ำ ยุงลาย ลดการป่วยจาก 3 โรคจากยุงลาย คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยใช้มาตรการ “ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ประกอบด้วย 1.เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน ทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง เป็นต้น
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า อาการสำคัญของโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอยเกิน 38.5 องศาเซลเซียส 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น เบื่ออาหาร อาเจียน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด หรือลดชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก ให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรักษา ในการดูแลผู้ป่วยเมื่อมีไข้ ให้เช็ดตัวผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามแพทย์สั่ง รับประทานอาหารอ่อนและที่ทำให้สดชื่น เช่น น้ำเกลือ น้ำผลไม้ พักผ่อนมากๆ และหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย โดยเฉพาะช่วงที่ไข้ลดประมาณตั้งแต่ 3-5 วันหลังป่วย จะเป็นช่วงอันตรายที่สุด หากมีอาการซึมลง อ่อนเพลีย รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และควรให้ข้อมูลเรื่องอาการ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์/ สถานที่รักษาบ่อย ๆ และไม่ควรทานยาแอสไพริน กับกลุ่มไอบูโปรเฟน เพราะทำให้เลือดออกง่ายประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
*********************************** 25 กุมภาพันธ์ 2561