กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) สานต่อปณิธาน ต้านภัยมะเร็งเต้านม ช่วยชีวิตรผู้ป่วยแล้ว ร้อยละ 95.5 ภายใน 5 ปี

วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2560 ) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรองศาสตราจารย์ ดร.จิรายุ อิศรากูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ต้านภัยมะเร็งเต้านม เพื่อสรุปผลความก้าวหน้าของโครงการฯ ระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา พร้อมมอบเข็มและโล่เกียรติยศแก่ 21 จังหวัดเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการฯ 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่าในการต้านภัยมะเร็งเต้านม ระยะ10 ปี (2555-2565) ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จย่า คือ ให้นำเทคโนโลยี ที่ทันสมัย และเหมาะสมมาใช้ เพื่อดูแลคนรวยและคนจนให้เท่าเทียมกันผลการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 - กันยายน 2560 พบว่า มีสตรีอายุระหว่าง 30–70 ปี เข้าร่วมโครงการฯ ถึง 1.9 ล้านคน ใน 21 จังหวัด มีจังหวัดปฏิบัติงานเต็มพื้นที่ครบทุกอำเภอ ทั้งหมด 5 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย จันทบุรี นครราชสีมา สกลนคร และสุราษฎร์ธานี และอีก 16 จังหวัดทำจังหวัดละ 1 อำเภอ โดยร้อยละ 70.8 มีการตรวจเต้านมสม่ำเสมอ และลงบันทึกในสมุด ทำให้พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จำนวน 2,619 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 43.7 เป็นมะเร็งขนาดเล็กไม่เกิน 2 ซ.ม. และร้อยละ 69.9 อยู่ในระยะแรกทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น ถึงร้อยละ 95.5 โดยในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ไป จะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ตามโครงการฯ นี้ จะส่งเสริมให้ประชาชนตรวจคัดกรองโรคด้วยตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอตรวจและจดบันทึกผลการตรวจลงใน สมุดบันทึกการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เดือนละครั้ง เพื่อเก็บข้อมูลและใช้สังเกตความเปลี่ยนแปลง มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ผ่านการอบรมเป็นพี่เลี้ยงหากพบผิดปกติจะส่งต่อเพื่อรับการตรวจผลยืนยันด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี โดยตรวจหลังประจำเดือนหมดแล้ว 3-7 วัน ตรวจทุกเดือน ใช้เพียง 3 นิ้วสัมผัส คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำเต้านม 2 ข้าง ตามเข็มนาฬิกา หากพบว่า มีก้อนผิดปกติ ให้รีบไปพบ อสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อที่โรงพยาบาล จะได้รักษาได้ทันที โอกาสการหายขาดมีสูง และสามารถยับยั้งและตัดโอกาสไม่ให้ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นๆได้อีกด้วย

ทั้งนี้ โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนคนไทย มากเป็นอันดับหนึ่ง ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 112,392 ราย พบมากที่สุดในผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม ใน 1 ปี มีผู้เสียชีวิตประมาณ 8,000 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น ปีละประมาณ 12,000 คน กระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และบรรจุให้ โรคมะเร็ง เป็นสาขาหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ เพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งได้ครอบคลุมตั้งแต่คนปกติ ถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย โดยมีเป้าหมาย ลดอัตราการตาย ลดระยะเวลารอคอย และสถานบริการมีคุณภาพได้มาตรฐาน

              

              

************** พฤศจิกายน 2560



   
   


View 30    30/11/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ