สาธารณสุข เตือนภัยคนที่ชอบซักแห้ง อาจตกเป็นเป้ายุงลาย เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยกว่า 3 พันราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย จำนวนคนป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 แนะประชาชนให้คว่ำภาชนะที่ไม่ใช้งาน อย่าให้มีน้ำขัง เนื่องจากไข่ยุงลายจะมีการปรับตัว ทนแล้งได้นานเกือบ 1 ปี หากมีน้ำขัง ไข่พร้อมกลายเป็นตัวยุงภายใน 1 ชั่วโมง
นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งในกว่า 50 จังหวัดขณะนี้ อาจมีผลให้โรคบางโรคมีการก่อตัวแบบเงียบๆ ได้ โดยเฉพาะยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกและพบได้ตลอดปี จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยสะสมแล้ว 3,305 ราย จำนวนผู้ป่วยแยกรายเดือนดังนี้ เดือนมกราคมจำนวน 1,978 ราย กุมภาพันธ์จำนวน 927 ราย เดือนมีนาคม พบ 400 ราย โดยผู้ป่วยกว่าร้อยละ 99 รักษาหายขาด มีเสียชีวิตเพียง 2 ราย ที่จังหวัดสมุทรสาคร และภูเก็ตเมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าสถานการณ์ในปีนี้ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 ร้อยละ 8 ซึ่งพบผู้ป่วย 3,062 ราย
พื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากที่สุดอันดับ 1 ได้แก่ภาคกลาง จำนวน 1,746 ราย รองลงมาได้แก่ภาคใต้ พบ 915 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 462 ราย และภาคเหนือน้อยที่สุด 182 ราย สำหรับเขตกรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยแล้ว 861 ราย มากที่สุดที่เขตภาษีเจริญ 46 ราย รองลงมาได้แก่ เขตหนองแขม 44 ราย และเขตบางซื่อ 43 ราย
นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัด รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูกาลระบาดก็ตาม เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นกับคนทุกวัย และพบผู้ป่วยได้ตลอดปี ไม่เว้นแม้ในฤดูร้อน ซึ่งขาดแคลนน้ำ โดยไข่ของยุงลายจะปรับตัวไปตามสภาพอากาศที่แห้ง สามารถทนแล้งได้นานกว่า 6 เดือน อาจถึง 1 ปี ไข่ยุงจะเกาะติดภายในภาชนะ และเมื่อมีน้ำขังในภาชนะ ไข่จะสามารถฟักตัวกลายเป็นลูกน้ำภายในเวลารวดเร็วเพียง 20 ถึง 60 นาที โดยยุงลายตัวเมียจะวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิจัยธรรมชาติของยุงลาย พบว่ายุงชนิดนี้ไม่ชอบแสงแดด ไม่ชอบลมแรง มักออกหากินในช่วงกลางวัน หากในช่วงกลางวันยุงลายไม่ได้กินเลือดหรือกินไม่อิ่ม ก็อาจจะออกหากินในเวลาพลบค่ำได้อีก หากห้องนั้นมีแสงสว่างพอ จากการศึกษาพฤติกรรมยุงลายในกรุงเทพฯ พบว่าจะกัดคนในช่วงเวลา 9.00-10.00 และ 16.00-17.00น.
ยุงดังกล่าวใช้หนวดในการดมกลิ่นคน มักชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก คนที่ตัวร้อนหรือมีอุณหภูมิบริเวณผิวหนังสูง ชอบกัดคนที่หายใจแรง เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมากับลมหายใจเป็นตัวดึงดูดให้ยุงลายบินเข้ามาใกล้ๆ และยุงลายมักชอบกัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ยุงชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยุงยังชอบกัดคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า มากกว่าผู้ที่ใส่เสื้อผ้าสีขาว ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนที่ไม่ชอบอาบน้ำหรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ซักแห้ง อาจตกเป็นเหยื่อของยุงลายและป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ง่ายกว่าผู้ที่อาบน้ำและดูแลความสะอาดร่างกาย
ประชาชนควรเก็บสิ่งของในบ้านเรือนให้เป็นระเบียบอยู่เสมอ เสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว ควรเก็บซักทันทีหรือนำไปผึ่งแดดผึ่งลมภายนอกบ้าน เพราะหากมียุงลายเล็ดลอดเข้ามาอยู่ในบ้าน บริเวณที่จะเป็นแหล่งเกาะพักของยุงลายส่วนมากคือราวพาดผ้า กองเสื้อผ้าที่มีกลิ่นเหงื่อไคล มุ้ง สายไฟที่อยู่ตามมุมมืดของห้องและเครื่องเรือนต่างๆ ห้องนั่งทำงาน นั่งเล่น ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์อยู่ในบ้าน ควรอยู่ในที่มีลมพัดผ่าน อาจเปิดพัดลมช่วยได้และให้มีแสงสว่างเพียงพอ อย่างไรก็ตามมาตรการที่กล่าวมาเป็นเพียงการป้องกันที่ปลายเหตุ การป้องกันที่ต้นเหตุที่ดีที่สุดคือทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายเช่นการใช้ดินปลูกไม้ประดับแทนการแช่น้ำในแจกัน ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะในห้องน้ำทุก 7 วัน น้ำในจานรองกระถางต้นไม้ต้องเททิ้ง นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
********************************* 8 เมษายน 2550
View 16
08/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ