องค์การอนามัยโรคเผยรอบ 30 ปี มีเชื้อโรคเกิดใหม่กว่า 30 โรค พร้อมระบาดข้ามประเทศได้เพียงชั่ววัน ประกาศให้ทุกประเทศเตรียมพร้อมป้องกันโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ เนื่องในวันอนามัยโลกประจำปี 2550 ส่วนประเทศไทย เตรียมพร้อมรับมือทั้งโรคเก่าและโรคใหม่ๆ โดยจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วทั่วประเทศกว่า 1,000 ทีม มีด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชนกว่า 800,000 คน
วันนี้ (5 เมษายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ พี ที จายะวิกรัมมะราชา (Dr P.T. Jayawickramarajah) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมเปิดการเสวนา เนื่องในวันอนามัยโลกประจำปี 2550 ในหัวข้อประชาคมโลกปลอดโรคภัย ต้องร่วมใจพัฒนาสาธารณสุข (Invest in Health, Build a Safer Future) ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข มีผู้เข้าร่วมเสวนา 300 คน
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกเป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2491 มีหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นจึงได้กำหนดให้วันที่ 7 เมษายนของทุกปี เป็นวันอนามัยโลก โดยในปี 2550 นี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสุขอนามัย เพื่อให้ทุกประเทศมีศักยภาพทางด้านสาธารณสุข พร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกแห่งทั่วโลก และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้คำขวัญว่า ประชาคมโลกปลอดภัย ต้องร่วมใจพัฒนาสาธารณสุข (Invest in Health, Build a Safer Future)
จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีโรคติดเชื้อชนิดใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 30 โรค เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง จากการเดินทางของผู้คนโดยเครื่องบินปีละประมาณ 2,000 ล้านคน ทำให้เชื้อโรคระบาดข้ามประเทศเพียงชั่ววัน ทุกประเทศจึงต้องเฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อหลายโรค ซึ่งถูกควบคุมจนสงบหรือลดลงมากแล้ว กลับมามีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดได้อีก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น เชื้อโรคมีการเปลี่ยนของตัวเชื้อโรคเอง การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรค และการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่ทำให้วัณโรคกลับมามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ในการแก้ไขโรคระบาดระหว่างประเทศ ในพ.ศ. 2548 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนกฎอนามัยระหว่างประเทศ ที่ใช้มาตั้งแต่พ.ศ. 2512 โดยได้ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2548 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 นี้ โดยให้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันและการควบคุมการแพร่กระจายโรคข้ามประเทศ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการคมนาคมและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งไม่ขัดต่อสิทธิมนุษยชนและอธิปไตยของแต่ละประเทศด้วย
โรคติดต่อที่ทุกประเทศต้องแจ้งองค์การอนามัยโลกภายใน 24 ชั่วโมง และควบคุมป้องกันโรคทันทีมี 4 โรค ได้แก่ ฝีดาษ โปลิโอ ซาร์ส และไข้หวัดใหญ่จากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ หากเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อสาธารณสุขระหว่างประเทศ 10 โรค ก็ให้แจ้งองค์การอนามัยโรคเช่นกัน ได้แก่ อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้เหลือง ไข้เลือดออกอีโบลา ไข้เลือดออกมาร์บูร์ก ไข้ลาสซา ไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ ไข้เลือดออกเด็งกี่ ไข้ริฟต์ วาลเลย์ และไข้กาฬหลังแอ่น รวมทั้งภัยสุขภาพอื่นๆ ที่มีแนวโน้มคุกคามข้ามประเทศ
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับองค์การอนามัยโลก ทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย สำนักงานภูมิภาคที่กรุงนิวเดลี และสำนักงานใหญ่ที่กรุงเจนีวา ที่ผ่านมาประเทศไทยได้แจ้งข้อมูลการระบาดของโรคติดต่อใหม่ คือ โรคซาร์ส และไข้หวัดนก อย่างตรงไปตรงมา และสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก จึงไม่กังวลต่อกฎอนามัยระหว่างประเทศ
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนาความพร้อมในการควบคุมป้องกันโรคระบาด โดยได้พัฒนาทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 1,033 ทีม ทั่วประเทศครอบคลุมถึงระดับอำเภอ มีด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ กว่า 50 แห่ง โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่เรียกว่า อินฟาเรตสแกนเนอร์ ทุกด่านอากาศระหว่างประเทศ มีห้องแยกดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทุกแห่ง ส่วนโรงพยาบาลชุมชนที่มีกว่า 600 แห่ง จะดำเนินการสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2550 นี้ และที่ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย คือ เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. กว่า 800,000 คน ที่ผ่านการอบรมในเรื่องการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังโรคในหมู่บ้านต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นอย่างดี ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว
*********************** 5 เมษายน 2550
View 12
05/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ