เตือนประชาชนพบสัตว์ปีกตาย แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรืออสม. อย่าใช้มือเปล่าสัมผัสซากสัตว์ปีก ห้ามนำซากหรือสัตว์ปีกที่ป่วยมาชำแหละเป็นอาหาร

           นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีพบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก ชนิด เอช 5 เอ็น 1 (H5N1)ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยไข้หวัดนกเป็นระดับรุนแรง เตรียมทำลายไก่มากกว่า 17,000 ตัว และระงับการนำเข้าสัตว์ปีกที่มีชีวิตเป็นเวลา 21 วัน ว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และโรงพยาบาลทั่วประเทศ เฝ้าระวังไข้หวัดนกในคน และทำงานใกล้ชิดกับกรมปศุสัตว์ในการป้องกันโรค แม้ว่าไทยจะไม่มีรายงานคนป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 และขณะนี้ยังไม่พบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติก็ตาม แต่เนื่องจากทุกประเทศยังมีความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อและการระบาดในสัตว์ปีก เพราะไข้หวัดนกสามารถแพร่ได้จากนกตามธรรมชาติ ซึ่งมีการอพยพย้ายถิ่นข้ามประเทศ และไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจะทำเชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้ง่าย โดยให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชนในการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง และให้กรมควบคุมโรค ประสานงานกับองค์การอนามัยโลก เพื่อติดตามสถานการณ์ไข้หวัดนกทั้งในสัตว์และคนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ล่าสุดของฮ่องกงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสำหรับประเทศไทยกรมปศุสัตว์มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด หากพบสัตว์ตายอย่างผิดปกติจะทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจและทำลายสัตว์ในฟาร์มนั้นทันที ซึ่งจากการประสานงานยังตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดนกเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้ว 

                ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่ง ด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปอดบวมหรือปอดอักเสบ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด สัตว์ปีกที่ชำแหละขายอยู่ในประเทศไทยขณะนี้มีความปลอดภัยจากไข้หวัดนก และยังไม่มีความจำเป็นต้องจำกัดการเดินทางข้ามชายแดน โดยผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่ในฟาร์มสัตว์ปีกหรือพื้นที่ที่มีสัตว์ป่วยตาย 2.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยปอดอักเสบ3.รับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก 4.หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วย หรือตาย 5.ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ6.หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ให้รีบไปพบแพทย์

                สำหรับการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ขอให้ประชาชนปรุงอาหารจากสัตว์ปีกและไข่ให้สุก ห้ามนำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาทำเป็นอาหาร เพราะการติดเชื้อมักเกิดขณะชำแหละ หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ให้สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนกไว้ก่อน และประสานอสม. หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อเก็บไปตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ห้ามใช้มือเปล่าจับต้อง สัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ผู้ที่ทำลายสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย จะต้องสวมถุงมือและหน้ากากอนามัย ให้ขุดหลุมฝังซากสัตว์ปีกลึกอย่างน้อย 2 เมตร โรยปูนขาวและฝังกลบ ไม่ให้เด็กเล่นกับสัตว์ปีก โดยเฉพาะสัตว์ปีกที่ป่วย สำหรับผู้ที่สัมผัสสัตว์ปีกและน้ำมูก น้ำลายของสัตว์ปีก ขอให้ล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำ หากมีอาการเป็นไข้ ไอ หลังสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วย และมียาต้านไวรัสไข้หวัดนกที่มีประสิทธิภาพ                          

ทั้งนี้ อาการของสัตว์ปีกที่ป่วยเป็นไข้หวัดนกสังเกตได้ดังนี้ มีอาการซึมหงอย ไม่กินอาหาร ขนยุ่งขนฟู หน้า หงอนหรือเหนียงบวม คล้ำ  มีน้ำมูก ท้องเสีย หากพบสัตว์ปีกที่มีอาการดังกล่าว ห้ามนำมาชำแหละเป็นอาหาร ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรืออสม. เพื่อป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด
 
*******************************22 ธันวาคม 2554


   
   


View 12       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ