ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในกทม.พบผู้ประสบภัยแผลอักเสบร้อยละ 30 มีแผลจากการเหยียบของมีคมร้อยละ 20 โดยผู้ประสบภัยกว่าร้อยละ 90 เปลือยเท้าลุยน้ำ แนะให้สวมรองเท้าขณะเดินลุยน้ำทุกครั้ง หากเกิดบาดแผล วิธีการดูแลเบื้องต้น ขอให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทั่วไป เช่นน้ำดื่มบรรจุขวด และปิดแผลให้แน่นด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด จากนั้นจึงไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ที่สุด        

                     นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกให้บริการร่วมกับกทม.ที่ย่านดอนเมือง กทม. มีปัญหาน่าห่วงพบผู้ประสบภัยที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วน เริ่มมีการอักเสบมากขึ้น พบได้ประมาณร้อยละ 30 ของผู้เจ็บป่วยที่ไปรับบริการ และพบผู้มีบาดแผลจากการเหยียบสิ่งของมีคมร้อยละ 20 ซึ่งจากการสังเกตพบว่าผู้ประสบภัยที่เดินลุยน้ำออกมาจากซอยต่างๆ กว่าร้อยละ 90 เดินเท้าเปล่า ซึ่งเสี่ยงต่อการเหยียบสิ่งของมีคมใต้น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำสีดำคล้ำจะไม่สามารถมองเห็นสิ่งแปลกปลอมใต้น้ำได้ จึงขอให้ผู้ประสบภัยสวมรองเท้าทุกครั้งที่เดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้า

                     นายแพทย์ธวัชชัยกล่าวต่อว่า เมื่อเกิดบาดแผล วิธีการดูแลเบื้องต้น ขอให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทั่วไปเช่นน้ำดื่มบรรจุขวด และปิดแผลให้แน่นด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด จากนั้นจึงไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การดูแลบาดแผลยังไม่ถูกต้อง และอาจมีอันตรายจากการติดเชื้อที่อยู่ในน้ำสกปรก อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ 

                    นายแพทย์ธวัชชัยกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีบาดแผลหรือมีรอยขีดข่วนตามผิวหนัง ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ เนื่องจากน้ำท่วมขณะนี้มีความสกปรกสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าแผล เพราะจะทำให้แผลอักเสบรุนแรง     หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังลุยน้ำขอให้ล้างให้สะอาดและซับให้แห้ง แผลจะค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนผู้ที่มีบาดแผลลึก ขอให้ทำแผลทุกวัน และให้สังเกตอาการผิดปกติ หากแผลอักเสบ บวมแดง มีหนอง หรือเนื้อที่ขอบแผลมีลักษณะซีด ขอให้ไปพบแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่  
 
                             ****************************** 2 พฤศจิกายน 2554
 
 


   
   


View 17       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ