ภายในสัปดาห์นี้  ช่วยผู้ป่วยได้รับยาตามความเหมาะสม

วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้กำหนดให้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ไม่สามารถเบิกยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ว่า กรณีดังกล่าวอยู่ในดุลยพินิจของกรมบัญชีกลาง แต่ก่อนที่กรมบัญชีกลางจะตัดสินใจ หากได้มีการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขด้วยก็จะเป็นประโยชน์และเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นหน่วยปฏิบัติที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไข้มากที่สุด ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ
 
นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้มอบให้อธิบดีกรมการแพทย์ ไปทำการศึกษาในรายละเอียดยา 4 กลุ่มหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเข่าเสื่อม ที่กรมบัญชีกลางได้ออกเป็นประกาศไปแล้ว ขณะนี้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับไปดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมาย เพราะว่าเป็นกรณีที่กรมบัญชีกลางได้ทำเรื่องมายังเลขาธิการ อย. เพื่อขอให้ช่วยพิจารณาว่ายาในกลุ่มที่ใช้ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม  มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข  ทบทวนในสรรพคุณใดหรือไม่  กรณียาทั้ง 4 กลุ่ม นี้ ซึ่งเลขาธิการ อย.ได้รายงานให้ทราบว่าจะพิจารณาหลักทางวิชาการให้แล้วเสร็จ และทำความเห็นส่งไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป คาดว่าจะได้คำตอบภายในสัปดาห์นี้ 
“มาตรการการห้ามใช้ยาในการรักษาข้อเข่าเสื่อม 4 กลุ่มของสิทธิสวัสดิการข้าราชการนั้น เป็นมาตรการของกรมบัญชีกลาง ไม่ใช่มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข แต่ว่าขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดว่ากระทรวงสาธารณสุขไประงับการให้ยา เพราะแพทย์เป็นผู้สั่ง ไม่จ่ายยาให้ผู้ป่วยตามระเบียบกรมบัญชีกลาง” นายจุรินทร์กล่าว 
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ได้พยายามขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ อย. เข้าไปช่วยพิจารณาร่วมกับกรมการแพทย์ว่ามีมาตรการใดที่จะผ่อนปรน หรือปรับแนวทางให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นได้บ้าง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาตามความเหมาะสม และอยู่ในดุลยพินิจที่เหมาะสมของแพทย์ซึ่งหากกรมบัญชีกลางจะมีการกำหนดควบคุมยาตัวอื่นเพิ่มอีก หากจะขอความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขประกอบ กระทรวงฯพร้อมจะส่งผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ความเข้าใจร่วมให้ความเห็นกับกรมบัญชีกลางด้วย   
  
สำหรับประเด็นค่ายาในระบบสวัสดิการข้าราชการที่สูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มจาก 2 หมื่นกว่าล้านบาทเป็น 6 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น เป็นที่มาให้กรมบัญชีกลางต้องไปพิจารณาดูว่า เกินความเหมาะสม เกินพอดีหรือไม่ อย่างไรก็ตามสำหรับแพทย์ผู้สั่งยา ก็มีกฎระเบียบที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าควรจะส่งยาใดในกรณีใด ซึ่งมีทั้งยาในและยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งการจ่ายยานอกบัญชียาหลักฯแพทย์จะต้องใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสมในการพิจารณา มิเช่นนั้นกรมบัญชีกลางจะขอเรียกเงินคืน ซึ่งเป็นประเด็นระหว่างกรมบัญชีกลางกับแพทย์ผู้ปฏิบัติเฉพาะราย 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการหารือกับอธิบดีกรมบัญชีกลางว่า ต่อไปจะใช้กลไกการทำงานร่วมกัน โดยกระทรวงฯจะให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง ไปพิจารณาร่วมกับผู้แทนของกรมบัญชีกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสนอีกต่อไป        
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ยาในกลุ่มรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมทั้ง 4 กลุ่มนี้ ในการจัดระบบของประเทศไทย จัดเป็นยาทั้งหมด ซึ่งมีการจดทะเบียนเป็นยามาประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ในบางประเทศยาใน 4 กลุ่มนี้บางตัวจัดอยู่ในกลุ่มเสริมอาหาร ซึ่งการจะจัดให้อยู่ในกลุ่มใดนั้น อย.จะเป็นผู้พิจารณาเมื่อผู้ประกอบการมาขอรับการขึ้นทะเบียนและจดทะเบียนยา ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มวิตามิน มีทั้งเป็นยา และเสริมอาหาร โดยพิจารณาตามปริมาณความต้องการในแต่ละวัน กรณีที่ปริมาณบรรจุน้อยกว่าความต้องการต่อวันจะจัดเป็นกลุ่มเสริมอาหาร แต่หากปริมาณมากกว่าใช้เพื่อการรักษาการขาดแคลน จะจัดเป็นยา โดย จะมีคณะอนุกรรมการ หรือคณะกรรมการพิจารณา          
              ด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อเช้าวันนี้ กรมการแพทย์ได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องยานอกบัญชียาหลักอีก 6 กลุ่มที่มีข่าวว่าจะไม่ให้ใช้ และยังมียารักษามะเร็ง กับยารักษาโรคกระดูกพรุนอีก 2 กลุ่ม รวมเป็น 8 กลุ่ม เพื่อเตรียมข้อมูลหลักฐานทางวิชาการทั้งหมดไว้ ขณะนี้พิจารณาไปแล้ว 3 กลุ่ม ซึ่งจะได้มีการประชุมต่อไป เพราะมีเหตุผลจำนวนมากทั้งข้อมูลทางวิชาการและจากประสบการณ์ของแพทย์ ที่ทำให้ยังคงต้องใช้ยาบางตัวที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ   ซึ่งเชื่อว่าทางกรมบัญชีกลางจะรับไว้พิจารณา
********************************** 15 กุมภาพันธ์ 2554
 


   
   


View 12       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ