คณะกรรมการตรวจสอบรถพยาบาลฉุกเฉินสธ. ได้ผลสรุปการตรวจสอบตัวรถและอุปกรณ์การแพทย์ รวม 51 รายการแล้ว พบอุปกรณ์บางชิ้นชำรุดจากการใช้งาน ต้องเร่งแก้ไขก่อนหมดสัญญา และมีอุปกรณ์ที่ไม่ตรงตามสัญญา 3 รายการ ได้แก่ แผ่นรองหลังผู้ป่วย ผ้าใบในเก้าอี้ย้ายผู้ป่วย และชุดตรวจน้ำตาลในเลือด
บ่ายวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์ปัญญา สอนคม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบ ว่า คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบใน 2 ส่วน คือ คุณลักษณะเฉพาะของตัวรถและอุปกรณ์การแพทย์สำหรับติดตั้งประจำรถ โดยใช้วิธีจับฉลากเพื่อสุ่มตัวอย่างรถ จำนวนร้อยละ 5 ของรถพยาบาลฉุกเฉินแต่ละงวด รวมทั้งหมด 12 คัน ได้แก่ งวดที่ 1 ร.พ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี และ ร.พ.บันนังสตา จ.ยะลา งวดที่ 2 ร.พ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ร.พ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร และ ร.พ.ย่านตาขาว จ.ตรัง งวดที่ 3 ร.พ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ร.พ.จุน จ.พะเยา และ ร.พ.บางระกำ จ.พิษณุโลก งวดที่ 4 ร.พ.หนองคาย จ.หนองคาย ร.พ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ร.พ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ และ ร.พ.พังงา จ.พังงา นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการตรวจสอบรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง ที่สตง. ได้อายัดไว้จำนวน 2 คันด้วย
นายแพทย์ปัญญา กล่าวต่อว่า ในการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ ได้แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.การเตรียมการ โดยขอเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในเครื่องหรืออุปกรณ์ที่ตรวจสอบ ค้นคว้าเอกสาร คู่มือ และมาตรฐานของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา 2.การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยนำรถพยาบาลไปตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพระนครเหนือ ซึ่งเป็นที่เดียวกับการตรวจสอบโดย สตง. พร้อมทั้งได้เชิญสื่อมวลชนและผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมการตรวจสอบด้วย เพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม รถและอุปกรณ์การแพทย์ประจำรถที่ตรวจสอบนั้น ได้ผ่านการใช้งานมาแล้วเป็นระยะเวลาแตกต่างกันตามรุ่นที่ส่งมอบ ข้อเท็จจริงที่ตรวจพบจึงอาจมีสาเหตุมาจากการนำไปใช้งานที่แตกต่างกัน ตามสภาพการใช้งาน
สำหรับขั้นสุดท้ายคือการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง รายการครุภัณฑ์ รวมทั้งตัวรถยนต์ ในสัญญาที่กระทรวงสาธารณสุขสั่งซื้อจากบริษัทโตโยต้าฯ ราคาคันละ 1.46 ล้านบาท และเครื่องช่วยหายใจและเครื่องกระตุ้นหัวใจ 2 รายการ ที่แยกซื้อต่างหากกับอีก 2 บริษัท ราคา 2.99 แสนบาท รวมทั้งสิ้น 51 รายการ จากการตรวจสอบพบว่า
1. รายการที่ตรงตามสัญญา ทั้งคุณลักษณะเฉพาะและแค็ตตาล็อก แบบรูป ซึ่งรวมทั้งตัวรถยนต์ การดัดแปลงรถยนต์ให้เป็นรถพยาบาล การติดตั้งอุปกรณ์ประจำรถ ห้องพยาบาล อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ประจำรถ และครุภัณฑ์การแพทย์ รวมทั้งสิ้น 43 รายการ รวมทั้งพื้นรถพยาบาลสามารถใช้งานได้ดี
2. ครุภัณฑ์ที่ตรวจพบตรงตามคุณลักษณ์เฉพาะ แต่เมื่อทดสอบการใช้งานในรถที่สุ่มตัวอย่าง ตรวจพบว่าไม่แข็งแรง อุปกรณ์บางชิ้นชำรุดจากการใช้งานมาระยะหนึ่ง สมควรตรวจสอบแก้ไขก่อนหมดอายุสัญญา ได้แก่ เตียงเข็นผู้ป่วย
3. อุปกรณ์ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าตรงตามคุณลักษณะเฉพาะในสัญญาหรือไม่ ตามเอกสารประกอบที่นอกเหนือจากคุณสมบัติเฉพาะ (SPEC) และแค็ตตาล็อกแบบรูป แต่คุณภาพการใช้งานบรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจชนิดมือบีบ เฝือกคอ และที่ประคองศีรษะ
4. รายการที่เอกสารแนบท้ายสัญญาขัดแย้งกัน ระหว่างคุณลักษณะเฉพาะกับแค็ตตาล็อกแบบรูป สัญญาระบุให้ผู้ซื้อเป็นผู้วินิจฉัย ชี้ขาดเป็นที่สิ้นสุด ได้แก่ มาตรปรับความดัน ในระบบออกซิเจนไปป์ไลน์
5. อุปกรณ์บางชิ้นที่ไม่ตรงตามสัญญา จำนวน 3 รายการ คือ ชุดแผ่นรองหลังผู้ป่วย ซึ่งมีความแข็งแรงไม่เท่ากัน และเมื่อตัดดูพบว่า ไม่ได้มีการเสริมความแข็งแรงด้วยสารโพลี่ยูรีเทน ผ้าใบในเก้าอี้ย้ายผู้ป่วย ผิดชนิดแต่มีคุณสมบัติกันน้ำและทำความสะอาดได้เช่นกัน และชุดตรวจน้ำตาลในเลือด ขาดปากกาเจาะเลือด ซึ่งในคุณลักษณะเฉพาะไม่ได้ระบุให้ต้องมี แต่มีปรากฏในแบบรูปแค็ตตาล็อก
ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบทั้งหมดนี้ คณะกรรมการฯ ได้สรุปสาระสำคัญจัดทำเป็นรายงาน เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว นายแพทย์ปัญญากล่าว
************************* 20 กุมภาพันธ์ 2550
View 11
20/02/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ