รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยโครงการทูบีนัมเบอร์วัน ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสบผลสำเร็จในการดึงเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวปัญหายาเสพติด ขณะนี้มีคนไทยครึ่งประเทศเป็นสมาชิก ชื่อเสียงดังกระหึ่มโลก ต่างประเทศอาทิเม็กซิโก สนใจศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่นในสถานศึกษา ขอดูเป็นต้นแบบ ไปขยายผลการป้องกันปัญหายาเสพติดในประเทศ ดร.พรรณสิริ กลุนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการได้ตามเสด็จทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเป็นองค์ปาฐกพิเศษโครงการทูบีนัมเบอร์วัน หรือโครงการเป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด ซึ่งพระองค์ทรงเป็นประธานโครงการ ในงานประชุมเยาวชนโลก (World Youth Conference) ประจำปี 2553 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และในปีนี้เป็นปีพิเศษเนื่องจากตรงกับวันชาติของประเทศเม็กซิโกด้วย โดยเม็กซิโกให้ความสนใจโครงการทูบีนัมเบอร์วันของไทยและให้การยกย่องว่าเป็นต้นแบบโลกในการป้องกันเยาวชนติดยาเสพติดเป็นผลสำเร็จ โดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 4,000 คน ประกอบด้วยเยาวชน เม็กซิโก ผู้นำทางวิชาการจากทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้จัดบู๊ทนิทรรศการแสดงมาตรการ กิจกรรมการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเยาวชนไทย และได้รับความสนใจเป็นอันมากจากประชาชน เยาวชน องค์กรการศึกษา องค์กรพัฒนาสังคมทั่วโลก การท่องเที่ยวของเม็กซิโก ต่างทึ่งและชื่นชมในความเป็นผู้นำที่สร้างสรรค์ของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ที่ทรงงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน ด้วยความเข้าใจพื้นฐานความต้องการของเยาวชน และมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่มากถึง 31 ล้านคน หรือครึ่งประเทศ ถือว่าเป็นเป็นต้นแบบของโลกที่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ มีเยาวชนเม็กซิโกจำนวนมาก ขอสมัครเป็นสมาชิกทูบีนัมเบอร์วันของประเทศไทยด้วย นับเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างมาก ประการสำคัญรัฐบาลเม็กซิโกได้ให้ความสนใจโครงการศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่นในสถานศึกษาของไทย ซึ่งมีรูปแบบให้เยาวชนร่วมกันดูแลเพื่อน ทั้งด้านวิชาการ กิจกรรม กิจกรรมเสริม และประสานงานอย่างไม่เป็นทางการ อยากขอมาดูต้นแบบด้วย เนื่องจากขณะนี้ที่เม็กซิโกมีระบบการให้คำปรึกษาปัญหายาเสพติดคล้ายของไทย แต่มีเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ ยังไม่มีในสถานศึกษา ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า โครงการทูบีนัมเบอร์วัน นับเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการของ หลายหน่วยงานที่ได้ผลดี กระทรวงสาธารณสุข จะน้อมใส่เกล้าและดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในเรื่องการบำบัดฟื้นฟูเยาวชนที่ติดสารเสพติด ซึ่งขณะนี้มีกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ ทางด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า วัยรุ่น เป็นวัยที่ชอบโลดโผน ชอบเสี่ยง และคิดว่าตัวเองจะควบคุมการทดลองใช้สารเสพติด ไม่ติดและเลิกได้ง่าย ซึ่งสารเสพติดใดที่ออกฤทธิ์เร็ว หมดฤทธิ์เร็ว สารนั้นจะทำให้เสพติดง่ายที่สุดและเลิกยากที่สุด เนื่องจากสารดังกล่าวจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนกลาง ส่วนที่ควบคุมศูนย์แห่งความสุข เมื่อเสพยาเข้าไปสมองจะรับรู้ว่าชอบ มีความสุข เมื่อใช้นานไปจะทำให้เซลสมองเสื่อมอย่างถาวร สติปัญญาถดถอย เกิดผลเสียมากต่อการเรียนรู้ ในการดูแลลูกหลานให้ห้างไกลสารเสพติด มีคำแนะนำผู้ปกครองดังนี้ 1.ให้เวลาลูกปลูกฝังสิ่งดีๆให้ลูก โดยเฉพาะเด็กที่อายุ 1-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงแรกของชีวิต 2.พูดกับเด็กอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้คำหยาบคายหรือตำหนิดูถูกลูก 3.ฝึกให้ลูกรู้จักการทำตัวเป็นคนดี คนเก่ง สร้างความสุขด้วยตนเองด้วยวิธีที่ถูกต้องเช่น เล่นกีฬา ทำงานอดิเรก 4.ฝึกให้เด็กมีวินัยตั้งแต่เรื่องกินอยู่ การนอน การเล่น 5.ฝึกให้เด็กได้ทำความเข้าใจตนเอง รู้จักการจัดการอารมณ์โกรธ ไม่พอใจที่ไม่เกิดผลเสียต่อตนเอง 6.ฝึกทักษะให้เด็กรู้จักการตัดสินใจแก้ปัญหา เริ่มจากปัญหาง่ายๆก่อน และ 7.เสริมสร้างทักษาให้เด็กรู้จักปฏิเสธเป็น ซึ่งจะทำให้เด็กไม่เข้าสู่วงจรยาเสพติดได้ *********************************** 22 มกราคม 2554


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ