กรมควบคุมโรค แนะประชาชนเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน เลียผิวหนังที่มีบาดแผล ถึงแม้ว่าแผลจะมีขนาดเล็ก ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและเข้ารับวัคซีนตามกำหนดให้ครบโดส ย้ำการรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นทางเดียวในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้

       วันนี้ (7 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น โดยปีนี้พบแล้ว 7 ราย ที่จังหวัดชลบุรี ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา (2 ราย) ตาก และระยอง มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเดียวกันของปี 2567 มากถึง 3 เท่า จากการวิเคราะห์พบว่า ร้อยละ 90 ติดเชื้อมาจากสุนัข ในขณะที่ร้อยละ 10 ติดเชื้อมาจากแมว นอกจากนี้ จากข้อมูลสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า โดยกรมปศุสัตว์ พบว่า ปีนี้พบสัตว์พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 164 ตัว โดยจังหวัดที่พบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์มากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สงขลา สุรินทร์ มหาสารคาม นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครศรีธรรมราช และมุกดาหาร ตามลำดับ

       นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคน คือ การถูกกัดแล้วไม่ล้างแผล ไม่ไปพบแพทย์ และไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ผู้เสียชีวิตบางส่วน เป็นผู้ที่รักสุนัขและชอบเก็บสุนัขจรจัดมาเลี้ยงโดยที่ขาดความตระหนักถึงโรคพิษสุนัขบ้า อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในปัจจุบัน คือ การที่เจ้าของไม่พาสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนน้อยกว่าเป้าหมาย ประชาชนในบางพื้นที่ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขด้วยตนเองซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเลี้ยงปล่อยที่สุนัขสามารถไปถูกสุนัขตัวอื่นกัด หรือข่วน และรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าตามมาได้ ขอเน้นย้ำเรื่อง ขณะนี้มีการพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ขอให้ประชาชนอย่านิ่งนอนใจ รีบเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันทีหลังสัมผัสโรคเพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า

       ทั้งนี้ หากประชาชนถูกสุนัข กัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ ฉีดวัคซีนให้ครบ” คือ ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำ และสบู่นาน 10 - 15 นาที ใส่ยาฆ่าเชื้อ รีบไปพบแพทย์เพื่อพิจารณารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุด กักสัตว์เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์เสียชีวิตให้ส่งสัตว์ตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรนำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเจ้าหน้าที่ หรือสัตวแพทย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งจะช่วยให้ภูมิคุ้มกันโรคในสัตว์อยู่สูงถึงระดับที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

**********************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 7 กรกฎาคม 2568



   
   


View 25    07/07/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ