กรมควบคุมโรค เตือนภัยสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำเสี่ยง พร้อมติดตามอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 21 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนระมัดระวังการใช้น้ำที่มีการปนเปื้อนจากสารหนู แนะประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งน้ำมาอุปโภคบริโภคโดยตรง และสังเกตอาการผิดปกติ รวมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคยังคงติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนของสารหนูในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง และวางแผนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการวางระบบการดูแลสุขภาพของประชาชนในระยะยาว สารหนูเป็นธาตุกึ่งโลหะที่พบได้ตามธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการดื่มน้ำหรือบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน หรือแม้แต่การสัมผัสน้ำทางผิวหนังในระยะเวลานาน แต่การดูดซึมผ่านผิวหนังจะน้อยกว่าทางการบริโภค ทั้งนี้หากได้รับสารหนูในปริมาณมากในระยะเวลาสั้น อาจก่อให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ชาปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อเป็นตะคริว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขณะที่การรับสารหนูสะสมในระยะยาวก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นหย่อมๆ ตุ่มแข็งที่ฝ่ามือฝ่าเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เลือดจาง เส้นขาวบนเล็บ รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกกเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยตรง และควรใช้น้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพตามมาตรฐาน หากพบอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ระคายเคืองตา ท้องเสีย หรืออาการชาตามปลายมือปลายเท้า ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับนักท่องเที่ยว ยังคงสามารถทำกิจกรรมทางน้ำได้ตามปกติ เช่น ล่องแพหรือพายเรือ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าว มาบริโภคและปรุงอาหาร
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดตั้งแผนเฝ้าระวังสุขภาพทั้งเชิงรับและเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง โดยร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อติดตามผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 พฤษภาคม 2568