สธ.เขตสุขภาพที่ 3 หนุนนโยบายรัฐบาล จัด 10 คลินิก/บริการทุกช่วงวัย เพิ่มการเข้าถึงบริการประชาชน
- สำนักสารนิเทศ
- 233 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการ M-MEX 2025 ระดม 74 หน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวงฯ ฝึกซ้อมระบบบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุข และระบบบัญชาการเหตุการณ์ในภาวะฉุกเฉิน ครอบคลุมทุกภัย ทั้งอุทกภัย แผ่นดินไหว โรคอุบัติใหม่ ภัยไซเบอร์ ตั้งแต่ภาวะปกติถึงวิกฤต ตามหลัก 2P2R คือ ป้องกัน เตรียมพร้อม ตอบโต้ และฟื้นฟู
วันนี้ (22 พฤษภาคม 2568) ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการฝึกซ้อมการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำปี 2568 (Medical Emergency Management Exercise 2025 : M–MEX 2025) ภายใต้การฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2568 (C–MEX 2025) ระหว่างวันที่ 21 - 23 พฤษภาคม 2568 พร้อมบรรยายพิเศษ ทิศทางการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย (ยกระดับสาธารณสุขฉุกเฉินไทย สู่เวทีอาเซียน) โดยมี นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายวิชัยกล่าวว่า ภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยในปัจจุบัน หลายเรื่องมีความถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผ่นดินไหว ไฟป่า หมอกควัน โรคระบาดอุบัติใหม่ ภัยจากรังสีนิวเคลียร์ ภัยจากการก่อการร้าย ภัยความมั่นคงไซเบอร์ และภัยจากการสู้รบ ส่งผลกระทบต่อชีวิต สังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยบูรณาการผ่านกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถรับมือกับทุกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ เป็นระบบและเป็นเอกภาพ ครอบคลุมทุกระยะของภัยตามหลัก 2P2R คือ การป้องกันและลดผลกระทบ (Prevention & Mitigation) การเตรียมความพร้อมรองรับภาวะฉุกเฉิน (Preparedness) การตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Response) และการฟื้นฟูหลังเกิดภาวะฉุกเฉิน (Recovery)
นายวิชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จัดการฝึกซ้อม M-MEX2025 เพื่อทดสอบระบบบริหารจัดการ การยกระดับการบริหารสถานการณ์ตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงภาวะวิกฤต และการเชื่อมโยงระหว่างระบบบัญชาการเหตุการณ์และกลไกการบริหารสถานการณ์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติให้สามารถรับมือกับภัยและภาวะฉุกเฉินทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขประเด็น "ทุกคนปลอดภัย" และยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นความมั่นคง ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถของหน่วยงานทั้งระบบให้มีความพร้อมติดตาม ป้องกัน แก้ไขและรับมือกับภัยคุกคามทุกมิติและทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มีการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ทั้งระดับชาติ ระดับหน่วยงาน และระดับท้องถิ่น เป็นประจำและต่อเนื่อง ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางการแพทย์และการสาธารณสุข พ.ศ. 2566 - 2570
นพ.สราวุฒิกล่าวว่า การฝึกซ้อม M-MEX2025 ประกอบด้วย การจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่ สถานการณ์มหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม การอพยพของแรงงานข้ามแดน และการโจมตีทางไซเบอร์ โดยใช้รูปแบบการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table – Top Exercise :TTX) การนำเสนอผลงานวิชาการในรูปแบบนิทรรศการ และการบรรยายปรับมาตรฐาน รวมถึงการเสวนาบทเรียนและกลไกสำคัญในการจัดการสาธารณภัยที่ยั่งยืนในพื้นที่ จากกรณีการอพยพจากภัยความไม่สงบและโรคระบาดระหว่างประเทศ จ.ตาก กรณีแผ่นดินไหวและอุทกภัยดินโคลนถล่ม จ.เชียงรายและเชียงใหม่ เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ และพิษณุโลก องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1, 2 และ 3 กรมและกองในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม 74 หน่วยงาน จำนวน 160 คน
********************************** 22 พฤษภาคม 2568