นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า “ตัวเรือด”หรือ “เบดบั๊ก” (bed bug) เป็นแมลงไม่มีปีกที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ตัวเรือดสามารถแพร่ขยายพันธุ์และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วและมีนิสัยชอบซ่อนตัวอยู่ตามที่นอน ซอกเตียง เก้าอี้ พื้นกระดานและรอยแตกของอาคารตัวเรือดนอกจากจะก่อความรำคาญจากการกัดและรบกวนการนอนแล้ว โปรตีนในน้ำลายของตัวเรือดยังมีพิษ ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดดูดเลือดมีอาการบวมอักเสบ และในผู้ที่แพ้น้ำลายของตัวเรือดนั้นจะทำให้เป็นผื่นขึ้นตามตัวได้แม้จะถูกกัดเพียงไม่กี่จุดก็ตาม สำหรับการรักษาและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทำได้โดยการล้างบริเวณที่ถูกกัดให้ทั่วด้วยสบู่และน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังแล้วทาคาลาไมน์ เพื่อบรรเทาอาการคัน หรือทาครีมแก้คันกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อรักษาอาการคันและการอักเสบจากการถูกตัวเรือดกัด และอาจทานยาแก้แพ้ร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการแพ้ที่ผิวหนัง หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
           นายแพทย์ยงยศ เปิดเผยอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวทีมนักวิจัยจากต่างประเทศได้ตรวจสอบตัวเรือดในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พบตัวเรือดอาจดื้อต่อยาฆ่าแมลงได้ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการกีฏวิทยาทางการแพทย์ แนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดตัวเรือด ดังนี้
           1.  การใช้ความร้อน เช่น 
                  - ต้มผ้าปูที่นอน ม่าน ตลอดจนเครื่องนอนหรือเครื่องใช้อื่นๆ 
                  - อบด้วยเครื่องอบผ้า (Dryer) ที่อุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที
                  - ใช้เครื่องพ่นไอน้ำร้อน (Steamer) พ่นบริเวณที่พบตัวเรือดด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส (ต้องเป็นช่วงที่ไอน้ำผ่านออกมาจากปลายท่อไม่เกิน 2.5 ซม.)
                  - ใช้เครื่องทำความร้อน (Heater) อบห้องให้อุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือที่ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
          2. การใช้สารเคมี
                 - ใช้สารเคมีกำจัดแมลงประเภทผสมน้ำฉีดพ่น เช่น อิมิดาคลอพริด (Imidacloprid), คลอเฟนาเพอร์ (Chlorfenapyr) ฯลฯ
                 - ใช้ผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดแมลงประเภทสเปรย์กระป๋องอัดก๊าซ สูตรน้ำมัน ซึ่งต้องมีสารออกฤทธิ์ในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethiod) ผสมกันตั้งแต่ 2 – 4 ชนิด ฉีดพ่นสเปรย์รอบกระเป๋าและล้อลาก หลังเดินทางกลับถึงบ้าน
           ทั้งนี้ การฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงดังกล่าว ต้องฉีดพ่นให้ทั่วทุกซอกทุกมุมที่เป็นแหล่งซ่อนตัวของตัวเรือด จึงจะได้ผลดี ส่วนการพ่นหมอกควันโดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงชนิดต่างๆ ที่ใช้พ่นกำจัดยุงทั่วไป ไม่สามารถจำกัดตัวเรือดได้



   
   


View 44    21/05/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์