กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำวิธีการดูแลสุขภาพตามศาสตร์ภูมิปัญญาไทย ชู ศาสตร์การนวด ประคบสมุนไพร อบสมุนไพร คลายอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พร้อมแนะนำ ยาสมุนไพรที่จำเป็นในแต่ละกลุ่มอาการ รวมถึง กลิ่นหรือสุคนธบำบัด ในการบรรเทาความตึงเครียดโดยเฉพาะสมุนไพรที่มีรสหอมเย็น เช่น มะลิ จำปี จำปา กระดังงา พิชิต 3 กลุ่มอาการที่มักพบบ่อยในกลุ่มวัยแรงงาน ได้แก่  โรคออฟฟิศซินโดรม โรคเครียดสะสม  และ โรคไมเกรน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ
           

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี คือ “วันแรงงานแห่งชาติ” ซึ่งกลุ่มวัยแรงงานถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มนี้กลับเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่น่าเป็นห่วง อาทิ อาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ความเครียดสะสม และภาวะนอนไม่หลับ อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงานที่ไม่เหมาะสม

“ศาสตร์การแพทย์แผนไทย” นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยดูแลสุขภาพได้อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มวัยแรงงานเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับ 3 ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย ได้แก่ ออฟฟิศซินโดรม เช่น น้ำมันไพล ทากล้ามเนื้อลดอาการปวดเมื่อย  ความเครียด กลิ่นหอมของดอกไม้ และสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย ทำให้จิตใจผ่อนคลาย ลดอาการเครียด และไมเกรน สามารถใช้ยาหอม และหัตถการ การอบ ประคบ สมุนไพร เพื่อดูแลสุขภาพได้ 
นายแพทย์สมฤกษ์ ยังกล่าวอีกว่า “วัยทำงานควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี พักผ่อนให้เพียงพอ และ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรงและป้องกันโรค
         

ด้านนายแพทย์กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเพิ่มเติมว่า 3 อาการสำคัญที่วัยแรงงานสามารถนำสมุนไพร และศาสตร์การแพทย์แผนไทยมาใช้ดูแลสุขภาพได้ ดังนี้ 1. โรคออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการทำงานในท่าเดิมซ้ำๆ นานๆ โดยเฉพาะการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ และหลัง ซึ่งอาจลุกลามจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว วิธีบรรเทาคือ การนวดรักษาและประคบสมุนไพร เช่น การใช้น้ำมันไพล หรือยาหม่องไพลนวดถูนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ และการใช้ยาสมุนไพร เช่น ยาเถาวัลย์เปรียง ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่ควรนั่งนานเกินไป พร้อมทั้งฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วย “ท่าฤๅษีดัดตน” เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. โรคเครียดสะสม ความเครียดส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ ศาสตร์การแพทย์    แผนไทยมีวิธีบำบัดด้วยการ “อบไอน้ำสมุนไพร” ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และลดความเมื่อยล้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการประคบสมุนไพรด้วยลูกประคบที่มีส่วนผสม เช่น ไพล ขมิ้น ตะไคร้ ใบมะขาม และการบูร ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย คลายกล้ามเนื้อ และลดความเครียดสะสมได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้กลิ่นบำบัด หรือ “สุคนธบำบัด” ด้วยสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเย็น เช่น มะลิ จำปี จำปา กระดังงา ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย พร้อมแนะนำให้ทำสมาธิและสวดมนต์เพื่อเสริมสร้างความสงบทางใจ ลดความวิตกกังวล 3. โรคไมเกรน หรือ ลมปะกัง ในศาสตร์แพทย์แผนไทย ไมเกรน ถือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับ “ธาตุลมผิดปกติ” ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดบริเวณศีรษะ มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว หรือ    สองข้าง ปวดตุบๆ ตามจังหวะหัวใจ พร้อมอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย การรักษาไมเกรนสามารถทำได้ทั้งการนวดรักษา  การประคบสมุนไพร อบสมุนไพร และการใช้ยาสมุนไพร โดยเฉพาะ “ยาหอม” เช่น ยาหอมเทพจิตร และ ยาหอมอินทจักร ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือสอบถามโดยตรงที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2149 5678 หรือผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ Line Official Account: @DTAM” 
 

                                             ………………………………………………………. 30 เมษายน 2568................................................................



   
   


View 24    30/04/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก