วันนี้ (30 มีนาคม 2568) นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บจากเหตุกราณ์แผ่นดินไหว พร้อมทั้ง มีความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตึกถล่ม และทีมกู้ภัย ทีมช่วยเหลือ ที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง จำนวนมากที่เกิดขึ้นจากซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่ม โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และทีมกู้ภัย ควรปฏิบัติตนเพื่อป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง ดังนี้ 1) สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ตลอดเวลา โดยสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ 2) หากหายใจเอาฝุ่นเข้าไป ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อลดการสะสมของฝุ่นในโพรงจมูก 3) สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น หากจำเป็นต้องเข้าไปควรใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก และ 5) ทำความสะอาดบ้านหรืออาคาร และบริเวณโดยรอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละออง

          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยแนะนำวิธีการจัดการซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่มอย่างปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) สำรวจและประเมินความเสี่ยง โดยสำรวจสภาพโครงสร้างอาคารที่เสียหายอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการถล่มเพิ่มเติม และวางแผนการรื้อถอนอย่างเป็นระบบ 2) คัดแยกประเภทขยะ และ ซากปรักหักพัง โดยคัดแยกขยะทั่วไป ขยะอันตราย และซากวัสดุก่อสร้างออกจากกัน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี 3) จัดการขยะอันตราย โดยรวบรวมขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี ไปกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล และ 4) วิธีกำจัดซากอาคาร โดยดำเนินการฝังกลบในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือเผาในเตาเผาที่มีระบบควบคุมมลพิษ กรมอนามัยขอความร่วมมือประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมอนามัย https://www.anamai.moph.go.th  หรือ 1478 สายด่วนกรมอนามัย

***

กรมอนามัย / 30 มีนาคม 2568



   
   


View 32    30/03/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย