อย. แนะโรงงานน้ำแข็ง เร่งตรวจสอบระบบป้องกันแอมโมเนียรั่วไหล ร่วมมือ สสจ. ทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งทุกแห่ง ให้สถานที่ผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน GMP ป้องกันอันตรายจากน้ำแข็งปนเปื้อน

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนความต้องการบริโภคน้ำแข็งเพิ่มสูงขึ้น โรงงานผลิตน้ำแข็งจึงต้องเร่งกำลังการผลิตและใช้ระบบทำความเย็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งมักเกิดจากความบกพร่องหรือชำรุดของอุปกรณ์ เพื่อป้องกันเหตุแอมโมเนียรั่วไหล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำด้วยทริคง่าย ๆ  "3 ส. 2 ป." 3 ส (ตรวจสอบสภาพ) 1. สภาพตัวถัง: ตรวจสอบตัวถังบรรจุก๊าซแอมโมเนียให้อยู่ในสภาพดี ไม่ผุกร่อน หรือมีรอยรั่วซึม 2. สายส่ง: ตรวจสอบท่อส่ง ข้อต่อ และวาล์ว ให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีการรั่วซึม หรือชำรุด 3. สม่ำเสมอ: ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ตามระยะเวลาที่กำหนด และ 2 ป. คือ 1. ป้องกันการรั่วไหลของแอมโมเนีย โดยการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ และติดตั้งระบบตรวจจับการรั่วไหล 2. ปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP อย่างเคร่งครัด และมีแผนรับมือเหตุฉุกเฉินกรณีเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย

นอกจากนี้ อย. ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งทุกแห่ง ให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP และมีการตรวจสอบระบบทำความเย็นและท่อก๊าซแอมโมเนีย รวมถึงการบำรุงรักษาประจำปี หากพบโรงงานใดปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์แอมโมเนียรั่วไหล โรงงานจะถูกสั่งให้หยุดการผลิตผู้ประกอบการต้องทิ้งน้ำแข็งที่อยู่ในถัง ที่ยังไม่ได้บรรจุในภาชนะปิดสนิทและทิ้งน้ำแข็งที่เก็บในห้องเย็น เนื่องจากมีความเสี่ยงปนเปื้อนแอมโมเนีย และให้ทำความสะอาดอุปกรณ์การผลิต ระบบถัง ท่อ โดยเฉพาะที่สัมผัสกับน้ำแข็ง และก่อนเริ่มการผลิตให้ล้างระบบ และถังเก็บน้ำแข็งด้วยน้ำที่มีคุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการปนเปื้อนในน้ำแข็งที่จะผลิตต่อไป  และเมื่อผลิตน้ำแข็งแล้ว ให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพ

ทั้งนี้ อย. และ สสจ. จะดำเนินการตรวจติดตามผลการปรับปรุง GMP ของโรงงานและการเก็บรักษาอาหาร เมื่อผ่านเกณฑ์ GMP และผลวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยน้ำแข็ง และไม่พบสารแอมโมเนียที่เป็นอันตรายปนเปื้อนในน้ำแข็ง จึงจะอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายต่อไปได้

วันที่เผยแพร่ข่าว 28 มีนาคม 2568  ข่าวแจก 130  /  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568



   


View 50    28/03/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา