“สมศักดิ์” นำทีม สธ.หารือ JICA วาง 3 แนวทางสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ให้อาเซียนพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนำทีมผู้บริหารหารือผู้เชี่ยวชาญ JICA วางแผนเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ผ่าน 3 กิจกรรม เตรียมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป มาประยุกต์วางโครงสร้างการทำงานของศูนย์ ACPHEED จัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขอาเซียน และบูรณาการข้อมูลสารสนเทศให้อาเซียนพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (The ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและขีดความสามารถในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ทั้งในส่วนของสำนักเลขาธิการ ACPHEED และศูนย์ด้านการสื่อสารความเสี่ยง โดยได้การสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) ในการช่วยจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลญี่ปุ่น และ JICA ได้สนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้แก่ ด้านการประสานงานโครงการ/การจัดการฝึกอบรม ด้านเภสัชวิทยา และด้านสัตวแพทยศาสตร์ เข้ามาปฏิบัติงานในไทยที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์ ACPHEED ภายใต้กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นระยะเวลา 2 ปี สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มอบให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารและบุคลากรกองยุทธศาสตร์และแผนงาน หารือร่วมกับ Mr.Shizume Takuya สำนักงานใหญ่ JICA และคณะผู้เชี่ยวชาญจาก JICA เกี่ยวกับแผนการขับเคลื่อนจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการขับเคลื่อนผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control: ECDC) ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยและผู้เชี่ยวชาญจาก JICA เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร กลไกการเฝ้าระวังโรค ระบบการสื่อสาร และกระบวนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงสร้างของศูนย์ ACPHEED และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับ ECDC 2.พัฒนาหลักสูตรพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อม ป้องกัน ค้นหา ประเมินความเสี่ยง ตอบสนอง และสื่อสารความเสี่ยงกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข โดยจะร่วมกับโครงการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนามของประเทศไทย และ 3.บูรณาการความร่วมมือด้านข้อมูลสารสนเทศและบุคลากรกับเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแห่งอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
“การประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเสริมสร้างความสามารถและความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติด้านสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน และเป็นการวางรากฐานการจัดตั้งศูนย์ ACPHEED ในอนาคต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์ ACPHEED โดยเน้นสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่และภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสมศักดิ์กล่าว
******************************************* 23 กุมภาพันธ์ 2568