สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการฟื้นฟูผู้ป่วย คลินิกสุขภาพเท้า ( Innovative Foot Orthotic Clinic ) หน่วยงานกายอุปกรณ์
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คลินิกสุขภาพเท้า ( Innovative Foot Orthotic Clinic ) งานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเเพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้บริการตรวจสุขภาพเท้าแก่บุคคลทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กที่มีปัญหาเท้าแบน เท้าผิดรูป เท้าปุก ในกลุ่มวัยทำงานที่มีปัญหาสุขภาพเท้า เช่น รองช้ำ เท้าแบน เท้าโก่ง ตาปลา เจ็บหน้าเท้า นิ้วเท้าบิดเก ชาปลายนิ้ว เอ็นข้อเท้าอักเสบ เอ็นร้อยหวายอักเสบ ในกลุ่มนักกีฬา เช่น บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาประเภทต่างๆซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติ หรือในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาเท้า เช่น เท้าเบาหวาน ปลายเท้าชา เท้าผิดรูป ความมั่นคงในการยืน/เดินที่ลดลง หรือปวดเข่าจากการที่แนวการลงน้ำหนักผิดปกติ เป็นต้น
แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการแผ่นเสริมรองเท้าเฉพาะบุคคล โดยนักกายอุปกรณ์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเท้า ใช้หลักการการกระจายน้ำหนักให้ทั่วทั้งฝ่าเท้า ลดแรงกระแทกที่ส้นเท้า ปรับแก้แนวการลงน้ำหนักและโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติ ลดการลงน้ำหนักในจุดที่มีแผลหรือจุดกดเจ็บ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 คลินิกสุขภาพเท้าได้ให้บริการผู้ป่วยจำนวน 1,437 ราย และให้บริการคลินิกสุขภาพเท้าสัญจรจำนวน 329 ราย ส่วนในปีงบประมาณ 2568 จนถึงปัจจุบันนั้นมีจำนวน 318 ราย ให้บริการคลินิกสุขภาพเท้าสัญจรจำนวน 181 ราย โดยการใช้แผ่นเสริมรองเท้าเฉพาะบุคคลนั้น ควรใส่กับรองเท้าที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้รับบริการในแต่ละรายตามความผิดปกติของเท้า โดยมีคำแนะนำในการเลือกซื้อรองเท้าดังนี้
- รองเท้าสามารถปรับสายรัด/เชือกได้ เพื่อปรับความกระชับให้พอดีกับเท้า
- วัสดุส่วนด้านบนนิ้วเท้า (Upper) ต้องมีความนิ่มและยืดหยุ่น เช่น ผ้า/หนัง เพื่อลดการเสียดสี
- ความกว้างบริเวณรองเท้าส่วนหน้า (Toe Box) ควรจะเท่ากับหรือกว้างกว่าหน้าเท้า (ball of foot) เพื่อไม่ให้เกิดการบีบรัดเพราะอาจจะส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณฝ่าเท้าอักเสบได้
- เมื่อสวมใส่รองเท้าควรดันส้นเท้าให้ชิดขอบด้านหลัง แล้วตรวจดูพื้นที่ตรงปลายนิ้วเท้าควรจะเหลือพื้นที่ประมาณ 1 - 1.5 ซม. ที่บริเวณปลายนิ้วเท้า เพื่อไม่ให้นิ้วเท้าชนขอบรองเท้าขณะเดิน
- พื้นรองเท้าส่วนหน้าและส่วนส้นเท้า (Heel Height) ควรสูงต่างกันไม่เกิน 1 นิ้ว
- พื้นรองเท้า (Outsole) ควรมีลักษณะกว้างและตรง ไม่ควรพับหรืองอได้ง่าย เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการเดิน
ลดความเสี่ยงในการเกิดข้อเท้าพลิก
- รองเท้าต้องมีส่วนกระชับส้นเท้า (Heel Counter) ที่แข็งแรง
- ขอบรอบข้อเท้า (Collar) ต้องมีความนุ่มและกระชับรับกับข้อเท้า
- รองเท้าสามารถถอดแผ่นรองเท้า (Insole) ที่มากับรองเท้าออกได้ เพื่อที่จะใส่แผ่นเสริมรองเท้าเฉพาะบุคคลเข้าไปแทน
- ควรเลือกซื้อรองเท้าในช่วงบ่ายหรือเย็น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เท้าขยาย
- ควรทดลองสวมรองเท้าทุกครั้งที่เลือกซื้อ เพราะแต่ละยี่ห้อมีขนาดไม่เท่ากัน ควรเลือกซื้อรองเท้าให้พอดีกับเท้าข้างที่ยาวกว่า
***********************************************************************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ #งานกายอุปกรณ์
ขอขอบคุณ
11 กุมภาพันธ์ 2568
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/1739284999802.jpg)
View 34
11/02/2568
ข่าวในรั้ว สธ.
กรมการแพทย์