วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2568) ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก คณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค และนายโซ มารูโอะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดงานส่งเสริมการตรวจคัดกรองวัณโรคในกลุ่มผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ภายใต้แนวคิด “กำแพงสังคมที่มองไม่เห็น” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการตรวจคัดกรองวัณโรคเชิงรุก ในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีด้วยชุดตรวจ TB Urine LAM สำหรับหาแอนติเจนของเชื้อวัณโรคในปัสสาวะ
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2566 วัณโรคเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี รวมถึงประเทศไทย ที่เป็น 1 ใน 30 ประเทศที่มีภาวะวัณโรคและวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงจากข้อมูลการคาดประมาณ Thailand spectrum-AEM (ปรับปรุง 12 มีนาคม 2567) พบว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นวัณโรคถึง 9,200 คน ได้รับการรักษาทั้งเอชไอวีและวัณโรค 5,055 คน และมีผู้เสียชีวิต อันเนื่องจากเอดส์ 12,072 คน โดยมีสาเหตุสูงสุดจากการป่วยด้วยวัณโรค จากสถานการณ์ดังกล่าว พบว่า วัณโรคเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เนื่องจากจะมีโอกาสป่วยด้วยวัณโรคเป็น 20 เท่าของคนทั่วไป ซึ่งผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีที่ป่วยวัณโรคมักตรวจ ไม่พบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสี แม้จะมีความเจ็บป่วยมากและเชื้อได้แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาล่าช้า นำมาซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตอันเนื่องจากเอดส์
กรมควบคุมโรค เล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี พร้อมทั้งมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นเพื่อยุติวัณโรคและเอดส์ ให้บรรลุเป้าหมายลดการเสียชีวิตในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี เหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย ภายในปี 2573 จึงมีมาตรการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีด้วยชุดตรวจ TB Urine LAM สำหรับหาแอนติเจนของเชื้อวัณโรคในปัสสาวะ ซึ่งเป็นชุดตรวจรู้ผลเร็ว (Rapid test) สามารถตรวจได้ง่าย รู้ผลเร็ว และแม่นยำ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว ลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิต ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในระยะยาว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/001(104).jpg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/002(79).jpg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/003(70).jpg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/004(84).jpg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/005(71).jpg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/006.jpeg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/007(56).jpg)
![](http://pr.moph.go.th/assets/userfiles/content/images/008.jpeg)
View 28
11/02/2568
ข่าวในรั้ว สธ.
สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ