รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงการดูแลสุขภาพผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ชายแดนไทย-เมียนมาทั้ง 7 แห่งใน 4 จังหวัด ยังเป็นภารกิจขององค์กรระหว่างประเทศ โรงพยาบาลชายแดนดูเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งต่อซึ่งอาจมีเพิ่มขึ้นหลัง IRC หยุดสนับสนุนงบประมาณ วางมาตรการรับมือระยะสั้น ทั้งตั้งศูนย์บัญชาการ จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่เข้าช่วยดูแล พร้อมเพิ่มงบประมาณพิเศษรองรับ ล่าสุดส่งรองปลัดฯ หารือผู้อำนวยการ WHO SEARO ขอสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร และเวชภัณฑ์ ส่วนระยะกลาง จะประสานกระทรวงการต่างประเทศเจรจาทบทวนความช่วยเหลือ และระยะยาว จะกำหนดนโยบายด้านสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติที่ยั่งยืน

           นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยแนวทางบริหารจัดการ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่หยุดให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการด้านการดูแลสุขภาพและการคุ้มครองในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านองค์กร International Rescue Committee (IRC) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อทบทวนนโยบายต่างประเทศ ว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ตั้งขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 รวม 9 แห่ง เฉพาะที่ดูแลโดย IRC มี 7 แห่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี (บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง) กาญจนบุรี (บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี) ตาก (บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง, บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ, บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง) และแม่ฮ่องสอน (บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม, บ้านใหม่ในสอย อ.เมือง) ผู้หนีภัยรวม 69,789 คน โดยมีสหประชาชาติ (UN) องค์กรนานาชาติต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา สนับสนุนงบประมาณและดูแลร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ส่วนหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ดูแลด้านสุขาภิบาลและการควบคุมป้องกันโรค เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดมาสู่คนไทย และช่วยดูแลผู้ป่วยที่ส่งมารักษาต่อกรณีเกินศักยภาพของโรงพยาบาลในค่ายเท่านั้น

       นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า การหยุดสนับสนุนดูแลค่ายผู้หนีภัยของ IRC ในช่วงนี้ อาจทำให้โรงพยาบาลในค่ายดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลผู้หนีภัยไม่ได้เต็มศักยภาพเท่าเดิม และอาจต้องส่งต่อมายังโรงพยาบาลชายแดนของไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ดูแลช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลชายแดนที่ต้องเข้าไปดูแลผู้หนีภัยทั้งหมด ทุกอย่างยังต้องอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรระหว่างประเทศ คือ IRC ทั้งนี้ ได้ให้วางแผนดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบแล้ว โดยมีมาตรการเร่งด่วน 1) จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ประสานงานกับโรงพยาบาลชายแดนเพื่อรองรับผู้ป่วย มีการรายงานสถานการณ์ทุกวัน และออกแนวทางปฏิบัติให้โรงพยาบาลชายแดน พร้อม Rapid Response Team (RRT) ทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 2) จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าไปตรวจรักษาในพื้นที่พักพิงทุกสัปดาห์ โดยโรงพยาบาลชายแดนสนับสนุนบุคลากรแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มเติม ใช้ระบบ Telemedicine เพื่อลดการเดินทาง และประสานภาคประชาสังคมร่วมสนับสนุนการดูแลสุขภาพ 3) จัดระบบส่งต่อกรณีฉุกเฉินและโรคเรื้อรังไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย โดยไม่ต้องใช้เอกสารซับซ้อน จัดรถพยาบาลเฉพาะกิจ และเพิ่มงบประมาณพิเศษให้โรงพยาบาลชายแดนรองรับค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 4) สำรองยาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติม 5) จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และ 6) ควบคุมป้องกันโรคติดต่อ/โรคระบาด

        มาตรการระยะกลาง จะประสานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้ทบทวนการระงับความช่วยเหลือ และขอรับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNHCR, IOM, WHO และองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ในการจัดสรรงบประมาณชดเชย สร้างกลไกความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมเพื่อช่วยเหลืองบประมาณและบุคลากร พร้อมพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพของผู้หนีภัยให้สามารถเข้าถึงได้ข้ามหน่วยงาน เพื่อช่วยในการติดตามและส่งต่อผู้ป่วย ส่วนมาตรการระยะยาว จะกำหนดนโยบายด้านสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติที่ยั่งยืน โดยปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขให้รองรับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัย เสนอกฎหมายหรือข้อบังคับที่เอื้อให้ผู้หนีภัยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างยั่งยืน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพในพื้นที่ชายแดนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลชายแดนทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น ระบบ Telemedicine และจัดทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเพื่อวางแนวทางการจัดการสุขภาพของผู้หนีภัยอย่างเป็นระบบ

        "ล่าสุด ได้มอบหมายให้นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ Ms.Saima Wazed ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) ที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค และการดูแลรักษาผู้หนีภัยในศูนย์พักพิงทั้ง 4 จังหวัด และได้รับรายงานว่า Ms. Saima ได้พิจารณาความช่วยเหลือทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และเวชภัณฑ์ และจะหารือร่วมกับ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกต่อไป" นายสมศักดิ์กล่าว

        ทั้งนี้ ในปี 2567 พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ทั้ง 7 แห่ง มีการส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลรัฐของไทย 13,835 ครั้ง การให้บริการในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนเด็กต่ำกว่า 1 ปี และ 5 ปี รวม 26,255 ครั้ง ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ รวมทั้งหมด 80.8 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 6.74 ล้านบาท แยกเป็น ราชบุรี 14.2 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 1.18 ล้านบาท ตาก 55.9 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 4.66 ล้านบาท แม่ฮ่องสอน 10.2 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 8.5 แสนบาท และกาญจนบุรี 5แสนบาท เฉลี่ยเดือนละ 4.2 หมื่นบาท

************************************** 9 กุมภาพันธ์ 2568

 



   
   


View 456    09/02/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ