กรมอนามัย เปิดคลินิกมลพิษออนไลน์เพิ่ม ย้ำ! ทีม SEhRT ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น
- กรมอนามัย
- 19 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ความก้าวหน้าการดำเนินการทีม SEhRT ยังคงเน้นย้ำการดำเนินงานตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 เผยผลการขยายห้องปลอดฝุ่นเพิ่มกว่า 9,950 แห่ง พร้อมเปิดให้บริการคลินิกมลพิษครบทั้งศูนย์อนามัย 1-12 และ สสม.
วานนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับภาวะฉุกเฉินกรมอนามัย (HPEHOC) ครั้งที่ 3 ณ EOC DOH Data Center กรมอนามัย และผ่านระบบ Video Conference กรมอนามัยได้มอบหมายให้ทั้ง 12 ศูนย์อนามัย และ สสม. ดำเนินการส่งทีมปฏิบัติการ SEhRT ลงพื้นที่เชิงรุก ในสถานที่ที่ดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น สถานดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้ง ปฏิบัติตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 ซึ่งผลการดำเนินงาน มีดังนี้ 1) ลงพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชนและภาคีเครือข่าย ในจังหวัดหนองคาย นนทบุรี ลพบุรี สระบุรี อำนาจเจริญ และกรุงเทพมหานคร 2) อบรมเพิ่มขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่แกนนำชุมชน ในจังหวัดอุทัยธานี อดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู นครพนม สกลนคร บึงกาฬ และนครราชสีมา 3) สื่อสารประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 ผ่านช่องทางต่าง ๆ 4) ขยายห้องปลอดฝุ่น พร้อมทั้งประเมินและสาธิตมุ้งสู้ฝุ่น จากเดิม 7,025 ห้อง เป็น 9,950 ห้อง 5) สนับสนุนหน้ากากกันฝุ่น แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง จำนวน 3,680 ชิ้น 6) ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และท้องถิ่น ให้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 7) จัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ เพื่อให้ความรู้คำปรึกษาเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสริมสร้างความรอบรู้ สื่อสารความเสี่ยง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ 8) จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในจังหวัดระยองและปทุมธานี และ 9) ประชุมหารือแนวทางการประเมินห้องปลอดฝุ่นตามเกณฑ์ประเมิน 12 ข้อ เตรียมออกใบรับรองสถานประกอบการที่มีห้องปลอดฝุ่นร่วมกับศูนย์อนามัยทั้ง 12 ศูนย์อนามัย และ สสม.
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยยังพร้อมเปิดคลินิกมลพิษ ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ทั้งศูนย์อนามัย 1-12 และ สสม. ทั้งนี้ ยังได้ดำเนินการในรูปแบบคลินิกมลพิษออนไลน์ด้วย ซึ่งสามารถเข้ามารับบริการได้ โดยเฉพาะวันที่มีค่าฝุ่นสูง โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบหมอพร้อม ประชาชนสามารถลงทะเบียน ประเมินอาการเบื้องต้น สร้างระบบนัดหมาย และรับคำปรึกษาเบื้องต้นได้ทันที ซึ่งหากพบความผิดปกติสามารถส่งตัวไปรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ เพื่อให้ครอบคลุมรูปแบบการให้บริการ ในอนาคตกรมอนามัยวางแผนจะพัฒนาคลินิกมลพิษให้สามารถรับ-ส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการใกล้บ้านได้ กรณีที่มีอาการรุนแรงต้องพบแพทย์ สอบถามเพิ่มเติมที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478 หรือ คลินิกมลพิษออนไลน์ ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ โทร. 0-5625-5451-4 ต่อ 125 หรือ @Line OA : https://lin.ee/Pz4421H
“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้เร่งสำรวจและรายงานสถานการณ์กลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 เพื่อกำหนดมาตรการลดความเสี่ยง ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัย ส่งเสริมการทำห้องปลอดฝุ่นให้ครอบคลุมทุก Setting เสี่ยง พร้อมสนับสนุนการใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการจัดการปัญหาฝุ่น สื่อสารความเสี่ยง เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกณฑ์ประเมินห้องปลอดฝุ่นสำหรับประชาชน รวมทั้งให้ความรู้กับประชาชน เช่น วิธีการเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศ แนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการปัญหาฝุ่น รวมทั้งเผยแพร่ต้นแบบคลินิกมลพิษออนไลน์ของศูนย์อนามัยและ สสม. พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานทำตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชนอย่างเคร่งครัด”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 7 กุมภาพันธ์ 2568