วันนี้ (14 มกราคม 2568) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค และนายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค ดำเนินการแถลงข่าวในหัวข้อ      “ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัยยั่งยืน” พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองและคนในครอบครัวให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรค ในช่วงต้นปีใหม่นี้    
          โควิด 19 ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 769,200 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดและผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้เสียชีวิตสะสม 222 ราย ซึ่งในปี 2567 ประเทศไทยพบสัดส่วน รหัสพันธุกรรม JN.1 สูงสุด    
          ไข้หวัดใหญ่ ในปี 2567 มีผู้ป่วยสะสม 668,027 ราย สูงกว่าปี 2566 ประมาณ 1.39 เท่า กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มเด็กเล็ก และวัยเรียน ผู้เสียชีวิต 51 ราย เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป การระบาดส่วนใหญ่พบในโรงเรียน เรือนจำ วัด ศูนย์ฝึกอบรมฯ และค่ายทหาร ซึ่งในปี พ.ศ. 2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เน้นย้ำให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ เลี่ยงการนำมือมาสัมผัสจมูก ปาก ตา หากไปในสถานที่ปิดหรือแออัดควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นเช็ดถูทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบเด็กป่วย และเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ    
         ไข้เลือดออก ในปี 2567 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงจากปี 2566 ประมาณ 0.7 เท่า โดยมีผู้ป่วย 105,250 ราย ผู้เสียชีวิต 114 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเรียน และอัตราป่วยตายสูงในกลุ่มวัยทำงาน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2568 ผู้ป่วยจะลดลง และยังคงเน้นย้ำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมงดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs แก่ผู้ป่วยที่สงสัยป่วยไข้เลือดออก และแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อไม่ให้ถูกยุงกัด     
          โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส RSV ในปี 2567 ผู้ป่วยสะสม 8,218 ราย พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และเริ่มพบมากขึ้นในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป จากการเฝ้าระวังเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดอักเสบจากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2567 พบว่า พบเชื้อ RSV มากในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง พฤศจิกายน โดยสายพันธุ์หลักที่พบในปี 2566 เป็นสายพันธุ์ RSV A และในปี 2567 เป็นสายพันธุ์ RSV B แนะนำประชาชน 1.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ ก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หลังเข้าห้องน้ำ 2.ไม่ใช้สิ่งของ/เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 3.เมื่อไอ/จามต้องปิดปากปิดจมูกด้วยผ้า/ทิชชู ทุกครั้ง 4.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด 5.หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ    
         โรคไข้หูดับ สถานการณ์โรคไข้หูดับ (ไข้หมูดิบ) ในประเทศไทยจากรายงาน 5 ปีย้อนหลัง (ปี พ.ศ. 2562 – 2566) พบจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ย 461 ราย และผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 22 ราย ปี พ.ศ. 2567 พบจำนวนผู้ป่วย 956 ราย และผู้เสียชีวิต 59 ราย วันที่ 1 มกราคม 2568 – ปัจจุบัน พบผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย และอาการรุนแรง 1 ราย ใน จ.บุรีรัมย์ ผู้เสียชีวิตพบมากในกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้เสียชีวิตมีประวัติติดสุราร่วมด้วย ร้อยละ 40 เน้นย้ำประชาชน 1.ไม่รับประทานเนื้อหมูดิบ 2.เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งขายที่มีมาตรฐาน 3.หลังสัมผัสเนื้อหมูล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง 4.เก็บเนื้อหมูสดแยกกับผักสดหรือของสุกป้องกันการปนเปื้อน 5.ไม่ใช้อุปกรณ์ทำอาหารกับเนื้อหมูดิบและผักสดหรืออาหารปรุงสุกร่วมกัน     
      ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สถานการณ์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 8 มกราคม 2568 ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง (> 75 มคก./ลบ.ม.) ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สระบุรี นนทบุรี นครพนม พิษณุโลก เพชรบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี หนองคาย นครปฐม และปทุมธานี แนะนำประชาชน 1.ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแอปพลิเคชัน Air4thai หรือช่องทางข่าวสารต่าง ๆ 2.ปฏิบัติตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ทำความสะอาดบ้านทุกวัน ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ได้มาตรฐาน เลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร หรือ การออกกำลังกาย ลดการใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด
          โรคจากต่างประเทศ ที่กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ได้แก่ โรคติดเชื้อ ฮิวแมน เมตานิวโมไวรัส หรือ hMPV เป็นไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจที่มีมานานแล้วไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโควิด 19  สามารถพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดทั้งปี มักพบผู้ป่วยในช่วงฤดูฝนและเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว จากข้อมูลที่เผยแพร่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน พบการติดเชื้อทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดทางตอนเหนือของจีน โดยตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไรโนไวรัส RSV และ hMPV ในส่วนของการเฝ้าระวังการติดเชื้อทางเดินหายใจ พบว่าปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยลักษณะของการระบาดเป็นรูปแบบพบได้ตามปกติของฤดูกาล ทั้งนี้ สถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2567 ผลการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคไข้หวัดใหญ่ และเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ พบผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อ hMPV 545 ราย จากจำนวนตัวอย่าง 15,299 พบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองลงมาคืออายุ 5 – 9 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป    
      โรคไข้หวัดนก สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคน และสัตว์ทั่วโลก ยังพบมีรายงานเป็นระยะ โดยเฉพาะสายพันธุ์ H5N1 ซึ่งติดต่อจากสัตว์มาสู่คน แต่ยังไม่พบว่าสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 261 ราย ไม่มีรายงานการติดเชื้อใหม่จากไวรัสไข้หวัดนก A(H5N1) ของแปซิฟิก ทั้งนี้ ที่ประเทศกัมพูชา พบผู้เสียชีวิตรายแรกของปี 2568 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นเพศชาย อายุ 28 ปี จากจังหวัดกำปงจาม เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก H5N1 หลังจากสัมผัสและนำไก่ที่ป่วยมาปรุงเป็นอาหาร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในประเทศไทย เป็นเวลา 18 ปีแล้ว หลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อปี 2549 ทั้งนี้ ประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั้งในคน สัตว์และสัตว์ป่า รวมทั้งประเมินความเสี่ยง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ตามแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)    
           ประเด็นเพิ่มเติม วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย (World NTD Day) สมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 74 กำหนดให้ วันที่ 30 มกราคม ของทุกปี เป็นวันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบอันเลวร้ายของโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย รวมถึงสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการกวาดล้างโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย โดยโรคเขตร้อน (Neglected tropical disease) คือ โรคที่พบมากในกลุ่มประเทศเขตร้อน ซึ่งสวนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ซึ่งโรคที่พบในไทย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงโรคพยาธิต่าง ๆ


 
กรมควบคุมโรคห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

*********************
ข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค
วันที่ 14 มกราคม 2568

 


 



   
   


View 33    14/01/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ