อย. เข้มกวาดล้างโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ป้องผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อ
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 41 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยสุขภาพประชาชนหลังจากเทศกาลปีใหม่ กินเลี้ยงฉลองเพลิน อาจเสี่ยงป่วยด้วยโรค NCDs พุ่ง เหตุจากกินเกิน ปาร์ตี้หนัก พักผ่อนน้อย อีกทั้ง การสังสรรค์ที่ไม่สร้างสรรค์อาจนำสู่การเสพติด และปัญหาสุขภาพจิต เครียดซึมเศร้า เกิดภาวะไม่อยากกลับมาทำงาน พร้อมแนะ 5 เทคนิค เพิ่มพลัง Active ให้ร่างกายและจิตใจกลับมาสดชื่นรับปีใหม่
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์สุขภาพของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มักใช้ช่วงเวลาสำคัญนี้ ในการเดินทางไปพบปะครอบครัวและญาติมิตร เพื่อกราบสวัสดีปีใหม่ และเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ รวมทั้ง การมีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการสร้างสุขภาพที่ดี และกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะงานเลี้ยงสังสรรค์ที่เต็มไปด้วยอาหารทอด ขนมหวาน เครื่องดื่มต่างๆ การกินอาหารในปริมาณที่มากเกินไปทั้งในงานเลี้ยงฉลอง อาหารของฝากกระเช้าของขวัญปีใหม่ ที่มักประกอบไปด้วยเค้ก คุกกี้ ช็อกโกแลต อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มสำเร็จรูปต่างๆ ที่ให้พลังงานมาก หากกินมากเกินไปจะส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือด ไขมันสะสม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีภาวะอ้วน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะ Post-Vacation Depression หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ซึ่งเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะทำให้รู้สึกหดหู่ เศร้าหมองคงอยู่ 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจยาวนานถึง 2-3 สัปดาห์ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต อาการสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาวะเหงา ซึมเศร้า ความเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจ และความรู้สึกหมดพลังหมดไฟในการทำงาน
“กรมอนามัยมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนหลังจากวันหยุดยาว จึงแนะนำ 5 เทคนิคในการปรับตัว เพื่อให้กลับมาทำงาน หรือใช้ชีวิตปกติหลังเทศกาลปีใหม่ ดังนี้ 1) ประชาชนควรดูแลสุขภาพ โดยควบคุมน้ำหนักของตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยสูตร 2:1:1 โดยแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน สองส่วนแรกเป็นผักสด หรือผักสุกมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป อีกส่วนหนึ่งเป็นข้าว แป้ง ควรเลือกชนิดไม่ขัดสีและส่วนสุดท้ายเป็นประเภทโปรตีน, เน้นปลา, เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือ การนับคาร์บ ซึ่งคำนวณปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เช่น แป้ง หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง โซเดียมสูง กินอาหารครบหมู่ รวมทั้งผัก ผลไม้สด ดื่มน้ำเปล่า วันละ 8-10 แก้ว เพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ กับความต้องการของร่างกาย 2) หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 3–5 วัน วันละอย่างน้อย 30 นาที ให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาที เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและอัตราการเผาผลาญพลังงาน เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายด้วยการเคลื่อนไหวออกแรงในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทำงานบ้าน เดิน เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก และเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ ปอดให้แข็งแรง 3) นอนหลับพักผ่อน วันละ 7-9 ชั่วโมง 4) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน แสดงความใส่ใจห่วงใย และส่งกำลังใจด้วยการสื่อสารที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้รูปแบบที่เหมาะสม กรณีที่อยู่ห่างไกลกัน สามารถโทรศัพท์หรือส่งข้อความหากันได้ 5) ฝึกสมาธิ เพื่อผ่อนคลายจิตใจ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 3 มกราคม 2568