ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด โดยประชาชนส่วนหนึ่งนิยมการเดินทางโดยขับรถไปกลับเอง จากสถิติระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุด้านพฤติกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 42 อันดับ 2 เปลี่ยนช่องทางหรือเลี้ยวตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 22  อันดับ 3 หลับใน ง่วง หรืออ่อนเพลีย ร้อยละ 10     


          นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าสาเหตุการหลับในขณะขับขี่ ส่วนใหญ่เกิดจากความเหนื่อยล้า ซึ่งมาจากการพักผ่อนไม่พอ ขับรถระยะไกล รวมทั้งการทำงานเป็นกะ และส่วนหนึ่งมาจากโรคประจำตัว เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ โรคลมหลับ หรือการใช้ยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยาบรรเทาอาการหวัด จึงขอแนะนำประชาชนที่ขับรถเดินทางเอง หากขับรถระยะไกล ต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง มีผู้สลับขับขี่ พักรถที่จุดพักรถสั้นๆทุก 2 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนอิริยาบท คลายความเหนื่อยล้า หากง่วงให้หยุดรถจอดในที่ปลอดภัยและงีบหลับช่วงสั้นไม่เกิน 20 นาที หรือที่เรียกว่า power nap จะทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายสดชื่นขึ้น และหากหยุดรถเมื่องีบหลับขณะเดินทาง ต้องจอดรถในที่พักรถ ไม่จอดรถข้างทาง เนื่องจากจะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุรถคันอื่นขับมาชนได้ เลือกจอดในที่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยว และล็อกรถให้เรียบร้อย และควรปิดแอร์ ลดกระจกรถทั้ง 2 ด้านเล็กน้อย เพื่อให้อากาศถ่ายเท การเปิดแอร์นอนในรถเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกาย ได้รับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์มากเกินไป ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้  


          นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการหลับในที่เกิดจากโรคหยุดหายใจขณะหลับหรือโรค OSA เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลับในขณะขับรถ กลุ่มเสี่ยงต่อโรค OSA ได้แก่ เพศชาย คนที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่นอนกรน นอนหลับไม่สนิท หรือมีอาการนอนละเมอ              ทำให้สภาพร่างกายเหมือนคนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีโอกาสหลับในได้สูง ขอแนะนำหากมีภาวะดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการขับรถ และเข้ารับการตรวจและรักษาจากแพทย์ 


         รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนฤชา จิรกาลวสาน นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากการหลับ กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ร่างกายง่วงนอนสูง คือ 13.00 – 15.00 น. และ 02.00- 04.00 น. ทำให้เสี่ยงต่อการหลับใน ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงเวลาดังกล่าวและได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการงีบหลับแบบ power nap ซึ่งจะใช้เวลาหลับประมาณ 20 นาที โดยให้ตั้งนาฬิกาปลุก เพราะการงีบหลับเกิน 20 นาที จะทำให้เข้าสู่ภาวะหลับลึก  เกิดอาการเฉื่อยชา มึนงง ตื่นมาแล้วไม่กระชับกระเฉงได้ นอกจากนั้นการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนงีบหลับ จะช่วยเสริมผลของการงีบหลับ ในกรณีผู้ที่ไม่มีอาการใจสั่นจากการดื่มคาเฟอีน และไม่มีโรคประจำตัวที่อาจจะทำให้แย่ลงจากการดื่มคาเฟอีน เนื่องจากคาเฟอีนจะออกฤทธิ์หลังดื่มเข้าไปประมาณ 20 นาที เมื่อตื่นขึ้นมาจากการงีบหลับจะทำให้ร่างกายสดชื่นเพิ่มขึ้น

****************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 23 ธันวาคม 2567

 

 

 

 

 


 
 



   
   


View 23    23/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ