กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดการสัมมนาผู้รับบริการ เพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 60 View
- อ่านต่อ
หลังจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ในทุกด้าน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค หรือสถานที่พักพิงชั่วคราว พร้อมเน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงอย่างทั่วถึง หลังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากภาคใต้ระลอกใหม่ สร้างความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนและความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินเป็นอย่างมาก พร้อมกำชับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานต่างๆ เร่งช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนและกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าว พร้อมจัดเตรียมยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และเฝ้าระวังโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น ไข้ฉี่หนู น้ำกัดเท้า ตาแดง และกลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น ไข้เลือดออก
ขณะที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้สนับสนุนทรัพยากรเพื่อเร่งช่วยเหลือ แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูอย่างเร็วที่สุด พร้อมส่งกำลังใจเจ้าหน้าที่ ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติงานภาคสนามรวมถึงทุกหน่วยงานในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 11 พร้อมทั้งเน้นย้ำโรคที่เกิดกับผู้ประสบอุทกภัย โรคลำดับต้นๆ ยังเป็นโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง จึงเร่งสนับสนุนเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนัง จำนวน 5,000 ชุด ผ่านโรงพยาบาลในเครือข่ายกรมการแพทย์และสำนักงานเขตสุขภาพที่ 11 เพื่อดำเนินการกระจายยาดังกล่าวให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และให้ได้รับการช่วยเหลือและได้รับการดูแลรักษาได้ทันท่วงที พร้อมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตยาเพื่อทยอยสนับสนุนยารักษาโรคผิวหนังให้เพียงพอและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร็วที่สุด
ด้านนายแพทย์วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์น้ำท่วม ประชาชนควรมีความรู้ในการป้องกันโรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสน้ำท่วม พร้อมทั้งปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ซึ่งโรคน้ำกัดเท้า ยังเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในช่วงน้ำท่วม จึงควรทราบแนวทางการป้องกัน ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หากจำเป็นต้องสัมผัสน้ำ ให้สวมรองเท้าบูท 2) เมื่อขึ้นจากน้ำ ควรล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำสะอาด 3) เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ 4) ทาครีมบำรุงผิวเพื่อป้องกันผิวแห้งและแตก 5) หากมีผื่นแดงเล็กน้อยและคัน ให้ทายากลุ่มสเตียรอยด์ 6) ในกรณีที่มีผื่นและรอยเปื่อยฉีกขาด หรือมีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนอง ควรรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ประชาชนควรทราบข้อควรระวังเพิ่มเติม ได้แก่ 1) หากเท้าแช่น้ำนานหลายวัน หรือนิ้วเท้าชิดกันจนเกิดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้า ควรใช้ยาทาเชื้อรารักษา 2) หากมีบาดแผล ควรทำแผลให้สะอาดและทายาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน 3) ระมัดระวังการตัดเล็บเท้า เพราะอาจทำให้เกิดบาดแผลที่เป็นช่องทางการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามคำแนะนำสำคัญจากแพทย์ ควรทำความสะอาดเท้าและง่ามนิ้วเท้าทุกครั้งหลังลุยน้ำ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
*****************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #มอบยาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย #ช่วยเหลือน้ำท่วมภาคใต้
-ขอขอบคุณ-
20 ธันวาคม 2567