อย. มอบของขวัญปีใหม่ 2568 เพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 29 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคไม่ทราบสาเหตุที่ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DR Congo) อย่างใกล้ชิด เน้นย้ำไทยมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศเฉพาะ พร้อมมีแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินหากเกิดการระบาดในประเทศ แม้การประเมินความเสี่ยงการระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
วันนี้ (19 ธันวาคม 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพบโรคไม่ทราบสาเหตุระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแถบแอฟริกากลาง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 กรมควบคุมโรคได้รับรายงานจาก SEAR International Health Regulation (SEAR IHR) โดยกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Ministry of Health Democratic Republic of the Congo) รายงานพบการระบาดของโรคไม่ทราบสาเหตุ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ในเขตสุขภาพปานซี (Panzi Health Zone) จังหวัดกวังโก อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และยังมีรายงานผู้ป่วยและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
จากการติดตามสถานการณ์ ข้อมูลจาก Africa CDC ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2567 พบมีรายงานผู้ป่วยโรคไม่ทราบสาเหตุ ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 จำนวน 527 ราย เสียชีวิต 32 ราย โดยผู้เสียชีวิต 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 59 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ป่วยมากที่สุด ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 42.7 รองลงมากลุ่มอายุ 5–9 ปี ร้อยละ 25.4 กลุ่มอายุมากกว่า 25 ปี ร้อยละ 22.6 กลุ่มอายุ 20–24 ปี ร้อยละ 3.6 กลุ่มอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 3 และกลุ่มอายุ 15–19 ปี ร้อยละ 2.4 โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ไข้ ไอ และอ่อนเพลีย จากการแถลงข่าวโดยกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 พบผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้รับการยืนยันในชุมชนเพิ่มเติม ผู้ป่วยกระจายอยู่ใน 9 พื้นที่จากทั้งหมด 30 พื้นที่ในเขตสุขภาพปานซี อาการที่พบในผู้เสียชีวิต ได้แก่ หายใจลำบากโลหิตจาง และมีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกส่งทีมสอบสวนควบคุมโรคไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง สอบสวนควบคุมโรค และทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสาเหตุของโรค ศึกษาวิธีการแพร่ระบาด และให้มาตรการที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการจึงยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด
“ประเทศไทยมีการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ประชาชนในประเทศยังมีความเสี่ยงต่ำจากโรคไม่ทราบสาเหตุนี้ อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ติดตามผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากพื้นที่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เน้นให้เฝ้าระวังโรคแบบเข้มข้น โดยเฉพาะด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่เป็นด่านแรกในการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและพื้นที่ที่มีการระบาด โดยปกติกรมควบคุมโรคมีมาตรการเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย เนื่องจากเป็น 1 ใน 42 ประเทศที่ประกาศเป็นเขตติดโรคไข้เหลือง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชนอย่าตระหนก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการเฝ้าระวังและคัดกรองโรคติดต่ออันตรายในผู้เดินทางเข้าประเทศ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 19 ธันวาคม 2567