วัยรุ่นปรึกษาสายด่วนฯ วันละกว่า 120 ราย ด้วยปัญหาท้องไม่พร้อม รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง หนุน คณะอนุกรรมการ ฯ ระดับจังหวัด มุ่งดึงทุกภาคส่วน ร่วมคลี่คลายป้องกันปัญหา โดยเฉพาะในกลุ่มอายุต่ำกว่า 14 ปี
- กรมอนามัย
- 17 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย เผย โรค NCDs เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตและคนไทยมากกว่า 14 ล้านคนกำลังเผชิญกับโรค NCDs มากกว่า 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน พร้อมจัดกิจกรรมเปิดบ้านกรมอนามัย เปิดใจ โลว์คาร์บ ไม่โลว์แคล สื่อมวลชน ห่างไกล NCDs (Open House Meet the Press @DOH
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมเปิดบ้านกรมอนามัย เปิดใจ โลว์คาร์บ ไม่โลว์แคล สื่อมวลชน ห่างไกล NCDs (Open House Meet the Press @DOH) ณ FITNESS CENTERS อาคาร 6 ชั้น 2 และห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs เพราะปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรถึง 41 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตของประชากรโลกทั้งหมด โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในประเทศไทย โรค NCDs เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตและคนไทยมากกว่า 14 ล้านคนกำลังเผชิญกับโรค NCDs มากกว่า 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุหลักของการเกิดโรค NCDs คือ การบริโภคอาหาร โดยเฉพาะของหวาน มัน เค็ม จากข้อมูลพบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา รวมถึงได้รับโซเดียมจากอาหารที่บริโภคเฉลี่ย 3,636 มก./วัน ซึ่งมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ประชาชนบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มก./วัน เช่นเดียวกัน และอีกสาเหตุการเกิดโรค คือ การออกกำลังกาย หรือ การมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง ที่พบว่า คนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จากร้อยละ 74.6 เหลือเพียงร้อยละ 55.5 ในปี 2563 และลดลงเป็นร้อยละ 19.1 รมอนามัยจึงกระตุ้นให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอโดยในปี 2566 คนไทยมีกิจกรรมทางกายสูงขึ้นอยู่ที่ ร้อยละ 68.1
“กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาโรค NCDs โดยสื่อสารให้ อสม.เรียนรู้ เรื่อง การนับคาร์บ หรือคาร์โบไฮเดรต ไม่ให้เกินร้อยละ 20 ของพลังงานที่ร่างกายต้องการ รวมทั้งผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี ปรับปรุงกฎหมาย มาตรการ สิทธิประโยชน์ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา และสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน การออกกำลังกาย ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่าและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและรัฐบาลได้” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะที่ดี รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชน รวมทั้งการขับคลื่อนคนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพทุกมิติ เพื่อลดโรค NCDs ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข การจัดกิจกรรมเปิดบ้านกรมอนามัย เปิดใจ โลว์คาร์บ ไม่โลว์แคล สื่อมวลชน ห่างไกล NCDs (Open House Meet the Press @DOH เป็นการเปิดบ้านให้สื่อมวลชน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงสำคัญ ที่จะนำข้อมูลข่าวสารการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันโรค NCDs ผ่านการร่วมกิจกรรมวิเคราะห์องค์ประกอบร่างกาย และเทคนิคเพิ่มกิจกรรมทางกายการสร้างกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เพิ่มการเผาผลาญ รักษาความยืดหยุ่นของหลอดเลือด การมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยนำออกซิเจน และสารอาหารจากเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้หัวใจไม่บีบตัวมาก เพิ่มความไวต่ออินซูลินช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด การออกกำลังกาย 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที ทำให้รู้สึกหัวใจเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออก เหนื่อยระดับปานกลาง จะช่วยให้น้ำตาลในเลือดลดลงเป็นปกติ และสามารถลดการใช้ยาเบาหวานได้
“ที่สำคัญ กรมอนามัยสนับสนุนนโยบายการนับคาร์บ ร้อยละ 20 ที่เหมาะสำหรับผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ต้องฉีดอินซูลิน เพื่อคำนวณปริมาณคาร์บในแต่ละมื้อให้เหมาะกับยาฉีดอินซูลิน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเบาหวาน ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้ดูแลสุขภาพที่ต้องการรักษาน้ำหนักตัว การจำกัดปริมาณคาร์บ ช่วยลดน้ำหนักได้หากลดน้ำหนักได้จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การทราบปริมาณคาร์บที่ควรได้รับในแต่ละมื้อ จะช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน และแนะนำการเจาะน้ำตาลก่อน และหลังอาหาร เพื่อคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน สำหรับโรคความดันโลหิตสูง โรคไต หากทราบปริมาณโซเดียมในอาหาร เราจะสามารถควบคุมโซเดียมต่อวันไม่ให้เกิน 2,000 มก./วัน กรมอนามัย ยังแนะนำวิธีการลดความดันโดยไม่ใช้ยา ดังนี้ 1) ควบคุมความดัน โดยลด เลี่ยง การทานอาหารโซเดียมสูง เช่น ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยวน้ำ ขนมจีนน้ำยา เกาเหลา น้ำแกง สุกี้น้ำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า อาหารแปรรูป กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก 2) กินผักสด สีเขียว วันละ 4-6 ทัพพี และผลไม้สดวันละ 4-6 ทัพพี หลากหลายสีสัน 3) การออกกำลังกาย 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ วันละ 30-45 นาที โดยมี เป้าหมาย 150นาที ต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือดช่วยลดความดันโลหิตได้ 4-9 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) และการลดน้ำหนักตัว ทุกๆ 10 กิโลกรัม ทำให้ความดันลดลงได้ 5-20 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) 4) DASH diet พืชสด : ด้วยเน้นวัตถุดิบสดตามธรรมชาติ เลี่ยงอาหารแปรรูป ลดเกลือ : ควบคุมปริมาณโซเดียม ไม่เกิน 2,300 มก./วัน เนื้อน้อย : เลือกปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ในปริมาณที่เหมาะสม ด้อยไขมัน : จำกัดการบริโภคน้ำมัน และเลือกกลุ่มไขมันดี น้ำตาลต่ำ : ลดหวาน น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน ช่วยลดความดันได้ 8-14 หน่วย (มิลลิเมตรปรอท) 5) วัดความดันซ้ำ ทุก 1 เดือน โดยนั่งพัก 10-15 นาที ก่อนวัดความดันซ้ำ ในอิริยาบทที่ผ่อนคลายที่บ้านหรือสถานีสุขภาพใกล้บ้าน และ 6) การนอนหลับอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง (ไม่ตื่นบ่อยกลางดึก) วันละ 7-8 ชั่วโมง การสวดมนต์ ผ่อนคลาย นั่งสมาธิ การจัดการความเครียด ก็สามารถลดความดันโลหิตได้เช่นกัน และยังมีเทคนิคการให้อายุยืนยาว ด้วย Life Style Medicine ที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถปฏิบัติตามได้ เพื่อสุขภาพที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 18 ธันวาคม 2567