นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมติดตามการจัดบริการสาธารณสุขให้แก่คนไทยในพื้นที่ทุรกันดาร และบุคคลไร้สัญชาติที่ บ้านไม้ลัน และโรงพยาบาลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ว่า บ้านไม้ลัน เป็นตัวอย่างหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดารที่มีประชากรหลากหลายชาติพันธ์ ในหมู่บ้านมีประชากรทั้งหมด 395 คน เป็นคนไทยที่มีบัตรประชาชนตามกฎหมาย 95 คน ไม่มีบัตร ใดๆ เลย100 คน และอีก 200 คน ถือบัตรสีชมพู คือ เป็นผู้ที่เคยได้รับการดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลฟรีมาก่อน เช่นบัตรผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรทอง แล้วถูกยกเลิกสิทธิภายหลัง   เนื่องจากอยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ โดยหมู่บ้านไม้ลันจะเป็นตัวอย่างนโยบายกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ในการลดภาระของโรงพยาบาลแม่ข่ายซึ่งดูแลประชาชนกลุ่มนี้

          

สำหรับโรงพยาบาลปางมะผ้า เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง รับผิดชอบประชากร 18,114 คน ใน 4 ตำบล 38หมู่บ้าน และ 19 หย่อมบ้าน ในจำนวนนี้เป็นคนต่างด้าว ประมาณ 4,651 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 โดยเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายที่รับผิดชอบหมู่บ้านที่มีประชากรถือบัตรสีชมพูจำนวนมาก   จึงเป็นที่มาของนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่เตรียมเสนอของบประมาณจำนวน 550 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีเพื่อคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ที่มีทั่วประเทศประมาณ 4.5 แสนกว่าคน  ดำเนินการระหว่างเดือนเมษายน-กันยายน 2553 คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นี้ มั่นใจเกินร้อยละ 50 ว่าคณะรัฐมนตรีจะให้ความเห็นชอบ                                                                            
 
“เป้าหมายสำคัญของการเสนองบดังกล่าว ประการแรกเพื่อให้โรงพยาบาล สถานีอนามัย รักษาพยาบาลคนไทยอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่กระทบกับการบริหารจัดการ และไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะต้องเบียดงบประมาณมาจัดบริการให้คนกลุ่มนี้ ประการที่ 2 เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของโรคระบาด เนื่องจากคนกลุ่มนี้เมื่อไม่ได้รับสิทธิก็จะไม่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล อาจมีปัญหาในการควบคุมป้องกันโรค”นายจุรินทร์กล่าว   
 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ระบบการดูแลประชาชนในถิ่นทุรกันดารนับจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนการจัดเครือข่ายที่มีรูปแบบชัดเจน คือ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัยและจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามแนวชายแดนตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ เช่นในพื้นที่ภูเขาสูงเป็นต้น เพื่อประชาชนเข้าถึงบริการง่ายขึ้น ทั่วถึงยิ่งขึ้น  โดยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้ามาทำงานในศูนย์ ฯ จ่ายค่าตอบแทนตามความเหมาะสม โดยจัดอบรมความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่ประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประชาชนในพื้นที่ กับสถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน ตามเส้นทางการจัดบริการของกระทรวงสาธารณสุข 
 
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือโรงพยาบาลชายแดน 10 จังหวัด 172 แห่ง มี 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.การเสนอของบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กลุ่มคนรอพิสูจน์สัญชาติ 2.ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดงบพิเศษเข้ามาช่วยเหลือโรงพยาบาล สถานีอนามัยในถิ่นทุรกันดารและ3. ใช้งบจากกองทุนฉุกเฉิน 200 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับดูแลโรงพยาบาลที่มีสถานะทางการเงินวิกฤต ก็จะให้พิจารณาโรงพยาบาลชายแดนเป็นพิเศษ โดยพิจารณาในรูปแบบคณะกรรมการ
 
********************************************   22 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ